กังวาล ทองเนตร

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา Pohthaiblogspot.com

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หัวใจนักพูด 13 ประการสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักพูดมืออาชีพ




  • ในฐานะที่เคยผ่านการอบรมฝึกการพูด และเคยได้ทำหน้าที่ วิจารณ์นักพูดรุ่นน้องและผ่านเวทีมาพอสมควรก็ขออนุญาตครูบาอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้ให้มา และขอนำมาถ่ายทอดต่อเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้แสวงหา ต่อไป

                                                     ( กังวาล ทองเนตร )

             หัวใจนักพูด 13 ประการ (โดย พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธฺิ์ ปราโมช )

1 )        เตรียมให้พร้อม

2)        ซ้อมให้ดี

3)       ท่าทีให้สง่า

4 )      วาจาให้สุขุม

5 )      ทักที่ประชุมอย่าวกวน

6 )        เริ่มต้นให้โน้มน้าว

7 )       เรื่องราวให้กระชับ

8 )       ตาจับที่ผู้ฟัง

9 )      เสียงดังแต่พอดี

10 )     อย่าให้มีเอ้ออ้า

11 )    ดูเวลาให้พอครบ

12 )    สรุปจบให้จับใจ

13 )   จากไปให้คิดถึง





                                             หัวใจนักพูด 13 ประการ  ( อธิบาย )

อย่างที่บอกครับว่า การพูดได้กับการพูดเป็น มันเป็นคนละเรื่องกัน  การพูดได้คือ มนุษย์ทุกคน ถ้าไม่เป็นใบ้ เมื่อถึงเวลา ก็พูดได้เองตามธรรมชาติ ตามพ่อแม่ แต่การพูดเป็น คือการพูดให้ถูกกาละเทศะ พูดให้ได้ใจคน และการที่จะทำอย่างนั้นได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝน

 ในเบื้องต้นจึงขออธิบาย หัวใจของนักพูดทั้ง 13 ประการ พอให้เข้าใจเพื่อเป็นแนวทางต่อไป

 1. เตรียมให้พร้อม

 หมายถึง ผู้พูด หรือนักพูด ต้องหาข้อมูล ให้ชัดเจนว่า เจ้าภาพที่เชิญเราไปพูด พูดในโอกาสอะไร มีหัวข้อหรือไม่ หัวข้อเกี่ยวกับอะไร พูดให้ใครฟัง ผู้ฟังมีระดับการศึกษาระดับไหน พูดในห้องปิดหรือห้องเปิด และพูดเป็นคนที่เท่าไหร่ ได้เวลาพูด กี่นาที เหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้พูดต้องแสวงหาหรือสอบถามจากเจ้าภาพให้ชัดเจน แล้วผู้พูดจึงมาเรียบเรียงเรื่องที่จะพูด ให้เหมาะกับเวลา สถานที่ กับคนฟัง   เช่น ถ้าพูดให้ชาวบ้านธรรมดา ฟัง เราก็ใช้ภาษา ชาวบ้านพื้นๆ เข้าใจง่าย ถ้าพูดกับคนมีการศึกษาเราอาจใช้ภาษาที่เป็นแบบแผนมีวิชาการ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิง เพื่อให้การพูดเราน่าเชื่อถือ นี่คือขั้นตอน เตรียมตัว หรือเตรียมให้พร้อม


2. ซ้อมให้ดี 

หมายถึง เมื่อเราได้ข้อมูลจากข้อ 1 มาพร้อมแล้ว เราก็มากำหนดเรื่องที่จะพูด ให้พอเหมาะกับเวลาที่เราได้มา โดยเราต้องซ้อมพูดจนให้จำได้ขึ้นใจ ซ้อมท่าที การวางตัว และจับเวลา ให้จบลงให้ได้ในเวลา ถ้าไม่พอดีเราก็สามารถปรับเนื้อหาลงได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนซ้อม

3. ท่าทีให้สง่า

หมายถึง ผู้พูดต้องสร้างความน่าสนใจ โดยให้ความสำคัญกับบุคคลิกของตนเองให้มีความน่าเชื่อถือ ในสายตาผู้ฟัง การแต่งตัว ต้องไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ควรระวังในเรื่องเครื่องประดับสำหรับผู้พูดที่เป็นสุภาพสตรี โดยเฉพาะเครื่องประดับที่ดูวูบวาบ เช่น กำไร ต่างหู ไม่ควร ดูเวอร์เกินไป เพราะจะดึงดูดความสนใจผู้ฟังมากกว่า เนื้อหาที่เราพูด

4. วาจาให้สุขุม

ในการพูดแต่ละครั้ง กิริยาของผู้พูดเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ผู้พูดประสบความสำเร็จในการพูดหรือไม่ เราต้อง รู้จักใช้คำในการพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง  ไม่ใช่พูดไปหัวเราะไป จะทำให้ขาดความน่าสนใจ เราเป็นนักพูด ไม่ใช่แสดงตลก เป้าหมายเราคือ ความสำเร็จในการพูด ความน่าเชื่อถือ แต่การพูดต้องไม่แข็งทื่อ ขาดรสชาติ เกร็ง ต้องพูดให้เป็นธรรมชาติที่สุด

5. ทักที่ประชุมอย่าวกวน

ารทักที่ประชุม เป็นสิ่งแรกที่ผู้พูดต้องเอ่ยปากพูดก่อนทุกครั้งที่พูด เราต้องรู้ว่าในที่ประชุมนั้น ใครเป็นประธานในงานใครใหญ่ที่สุดในงานนั้น เช่น งานแต่งงาน เจ้าภาพ อาจเชิญ นายกฯ รัฐมนตรี หรือผู้นำท้องถิ่นอื่นๆ มาเป็นประธานในงาน เราต้องทักคนนั้นก่อน เช่น เชิญ นายก อบจ.มาเป็นประธาน เราต้องทักที่ประชุมโดยเริ่มจาก 
   ท่านนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด แล้วตามด้วยชื่อ นายก อบจ . แล้วทักต่อมาคือ ท่านเจ้าภาพ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
 (ท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นนายบุญลือ ชื่อกระฉ่อน ท่านเจ้าภาพ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ) การทักที่ประชุมต้องไม่ทักให้ยาวเช่นเรารู้จักหลายคนเราทักจนหมด เช่น

ท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น นายบุญลือ ชื่อกระฉ่อน ท่าน สจ.ท่าน กำนัน ท่านผู้กำกับ ท่านผู้ใหญ่บ้าน ท่านอบต. ท่านเจ้าภาพ..........ยาวไปเรื่อย ( นักพูดที่ดีต้องไม่ทำในสิ่งเหล่านี้ )

6 . เริ่มต้นให้โน้มน้าว

การพูดจะน่าสนใจหรือไม่ ตัดสินที่การเริ่มต้นเป็นหลัก การเริ่มต้นที่ดี ทำให้การพูดต่อไปราบรื่น หลังจากที่เราทักที่ประชุมแล้ว เราต้องหา คำคมหรือสำนวน อื่นๆ มาให้เข้ากับงาน เช่นในงานแต่ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ สนใจอยู่กับการกิน และพูดคุย ไม่สนใจบรรยากาศบนเวที เราต้องมีวิธีการ ดึงคนฟังให้หันมาสนใจเราให้ได้  เช่น ท่านทั้งหลายครับ ท่านสละเวลา หันมามองผมสักนิด ท่านเห็นสิ่งที่ผมถืออยูในมือไหมครับ  แล้วก็ชูมือขึ้น แล้วพูดต่อว่า ตะเกียบครับ การที่ใครซักคนจะตกลงมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน จนเกิดงานแต่งงานขึ้นก็เหมือนกับตะเกียบคู่นี้ ตะเกียบจะขาดข้างใดข้างหนึ่งไปไม่ได้ เหมือนกับชีวิตคู่ ต้องเดินไปด้วยกัน .........เมื่อเราดึงผู้ฟังได้แล้วเราก็ว่าเรื่องของเราไป

หรือใช้มุกขำๆ เช่น  ท่านที่จอดรถ อยู่ชั้น 1 ชั้น2 ชั้น3ว่าไปจนครบ ทุกคนก็เริ่มสนใจเราว่าจะพูดอะไรต่อไป เกี่ยวกับรถเขาหรือไม่  เราก็หักมุม กรุณาฟังผมสักนิด................ว่าไป นี่คือวิธีดึงดูดผู้ฟังมาหาเรา

สิ่งที่ไม่ควรพูดในงานแต่งงานที่มีคนกำลังกินอาหารอยู่ เช่น นาย  ก.ถุกกำหนดให้เป็นผู้แทนบ่าวสาว พอขึ้นพูด ก็ไม่ทักที่ประชุม แค่ทักว่า ท่านทั้งหลายครับ ผมต้องขอโทษด้วยที่ผมมาช้า เหตุที่ผมมาช้าไม่ใช่เพราะอะไรครับ เพราะผมขี้แตก ขี้แตกทั้งคืน จนแสบตูด แถมมีเม็ดพริกออกมาด้วยผมต้องให้น้ำเกลืออยู่เป็นชั่วโมงค่อยลุกมาได้ แล้วก็บรรยายเรื่องขี้แตกของแกไปจนครึ่งชั่วโมงก็ลงไม่เป็น ( พูดไม่เป็น )



                        

7.เรื่องราวให้กระชับ

การพูดจะน่าสนใจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เนื้อเรื่อง หรือการเรียบเรียง ก็เป็นอีกประเด็น เรื่องที่จะพูดต้องเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หรือกำลังอยู่ในความสนใจของสังคม หรือถ้าถูกกำหนดหัวข้อมาให้ก็ควรหามุกสอดแทรกเข้าไปเป็นจังหวะๆ เรื่องที่พูดต้องไม่ยาวเยิ่นเย้อ น่าเบื่อ หรือไม่สั้นเกินไปจนไม่ได้ใจความ
แต่ควรเป็นเรื่องที่มีเนื้อหาสาระครบถ้วนและมีมุกตลกขบขันแทรก และสรุปจบให้ลงตัวและสมบูรณ์ที่สุด

8 .ตาให้จับที่ผู้ฟัง

การพูดโดยทั่วไป ผู้พูดจะอยู่บนเวทีที่มีความสูงกว่าผู้ฟังอยู่เสมอ ผู้พูดที่ดีต้องใช้สายตากวาดไปให้ทั่ว ซ้ายที ขวาที แล้วหยุดอยู่ตรงกลาง แล้วกวาดสายตาอีกรอบทำเช่นนี้ไปเรื่อยให้เป็นธรรมชาติ ระวังการ
กวาดสายตา ต้องให้หน้าไปด้วย อย่าสอดสายตาไปอย่างเดียวหน้าไม่ไปมันจะทำให้ เสียบุคคลิกทำให้สายตาดู รอกแร็ก ขาดความน่าเชื่อถือ และอย่าจ้องตาผู้ฟังหรือหยุดสายตาไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งนานๆ ผู้พูดควรมองผู้ฟังบริเวณหน้าผาก เพราะเป็นระดับสายตาที่ผู้ฟังจะมองขึ้นมาเห็นเรามองเขาได้ระดับพอดีกัน

9.  เสียงดังแต่พอดี

น้ำเสียงเป็นหัวใจสำคัญของการพูด นักพูดที่ดีต้องรู้จักศิลปะ การใช้เสียง เสียงพูด ต้องไม่เบาเกินไป ต้องไม่ดังเกินไป และต้องไม่ตระโกน ใส่ผู้ฟัง
แต่เราควรใช้เสียงเพื่อสื่อเนื้อเรื่องที่เราพูดนั้นออกมาให้เห็นภาพ เช่น เล็ก ใหญ่ น่ากลัว น่าเกลียด เหล่านี้คืออารมณ์ที่เราต้องใส่เข้าไปในน้ำเสียงเพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพพจน์
น้ำเสียงต้องมีสูง มีต่ำ ตามอารมณ์ของเรื่องที่พูด เป็นจังหวะจะโคน เหมือนเสียงดนตรี ถ้ามีระดับเสียงเดียว ก็ไม่น่ารับฟัง  เสียงพูดก็เช่นกัน ต้องมีผ่อนสั้นผ่อนยาว ลากเลื้อยไปตามอารมณ์ของเนื้อหาที่พูด น้ำเสียงต้องไม่ราบเรียบเป็นโทนเดียว

10. อย่าให้มีเอ้ออ้า


ในทางการพูดจะมีคำขยะอยู่หลายคำซึ่งวงการเราเลี่ยงที่จะใช้ หนึ่งในนั้นคือ คำว่า เอ้อ อ้า เพราะมันแสดงออกให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่า ผู้พูดไม่มีความรู้ในเรื่องที่พูด ไม่มีความจัดเจน ไม่เข้าใจ ไม่พรั่งพรูในการพูด พูดไปแล้วก็หยุด เอ้อ อ้าตลอดเส้นทางมันสะดุดตลอด ทำให้การพูดนั้นล้มเหลว ตกม้าตายขาดความน่าเชื่อถือ ผู้พูดที่ดีต้องหลีกเลี่ยง คำพวกนี้ ด้วยการเตรียมตัวและซ้อมให้ดี


11. ดูเวลา ให้พอครบ

ในการพูดแต่ละครั้งจะถูกกำหนดไว้ด้วยหัวข้อ และเวลา เวลาคือความรับผิดชอบของผู้พูดต้องรับผิดชอบบนเวที ผู้พูดต้องเตรียมเรื่องมาให้พอดีกับเวลา และพูดให้มีข้อสรุปจบลงให้ได้ในเวลาที่ได้มา เพราะถ้าเราพูดไม่มีที่ลงก็เหมือนเครื่องบินที่หาสนามลงไม่ได้ ในขณะที่พิธีกรบนเวทีกำลังรอไมค์อยู่ ในขณะผู้ฟังรอคำสรุปอยู่ ในที่สุดก็จะกดดันตัวเองทำให้หาที่ลงไม่ได้ และเกินเวลา วิทยากรคนอื่นไป ทำให้ผู้พูดเสียภาพลักษณ์ และเสียหาย

12. สรุปจบให้จับใจ

การสรุปจบ คือสิ่งที่ผู้พูดต้องพึงระวังให้ดี ถึงแม้เราจะเริ่มต้นมาดีตลอด แต่ถ้าสรุปจบด้วยคำว่า แค่นี้ครับ แค่นี้ค่ะ วงการพูดเราถือว่าผู้พูดนั้นตกม้าตายตอนจบ การสรุปจบก็เช่นเดียวกับการเริ่มต้นพูดคือดึงดูดใจผู้พูดให้มาหาเราก่อน เมื่อดึงคนฟังมาได้ ฉากสุดท้ายต้องสรุปเนื้อหาลงให้ประทับใจผู้ฟัง โดยสำนวนหรือคำคมดีๆ ที่มีเนื้อหาเข้ากับเรื่องที่เราพูดมาหรือเราคิดขึ้นมาเองก็ได้แต่ต้องสอดคล้องกันกับเนื้อหาที่พูดมาทั้งหมดด้วย

13. จากไปให้คิดถึง

เป็นขั้นตอนสุดท้ายทั้งหมดที่เราเริ่มพูดมา ว่าคนฟังจะจดจำเราในฐานะวิทยากรผู้พูดได้หรือไม่ หรือจะล้มเหลว ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการที่เราพูดมาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ถ้าผู้ฟังประทับใจเรา นั้นบ่งบอกว่าชื่อเสียงของผู้พูดจะถูกบรรจุเข้าไว้ในกล่องความจำของผู้ฟังเรียบร้อย การพูดครั้งต่อๆไป จึงเป็นเครดิตของผู้พูดเองที่สร้างไว้ในการพูดแต่ละครั้ง จงนำหัวใจผู้ฟังกลับไปให้ได้ทุกครั้งที่ลงจากเวที




หมายเหตุ ..


  • ข้อพึงปฏิบัติ และพึงระวังทุกครั้งที่ขึ้นพูด 


1. ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมก่อนขึ้นพูด เพราะจะทำให้เลอขณะพูด

2. ก่อนพูดเมื่อขึ้นถึงเวทีแล้ว ให้เช็คไมค์ด้วยการใช้นิ้วเคาะไมค์เบาๆ ว่าไมค์ไม่มีปัญหา

3. ปรับเสาไมค์ให้มีความเหมาะสมกับปากเราขณะพูด อย่าให้ไมค์บังหน้า ไมค์ควรอยู่ห่างจากปากประมาณ 1 คืบ  ถ้าเป็นคอนเดนเซอร์ไมค์ และ 7-10 เซ็นติเมตรถ้าเป็นไดนามิคไมค์

4. ก่อนพูดอย่างอื่น ต้องแสดงสีหน้ายิ้มแย้มก่อนทุกครั้งเป็นการเปิดเวทีเปิดทาง เปิดใจผู้ฟัง

5. ทุกครั้งที่นำคำพูดหรือคำคมใครมากล่าวในการพูด ต้องระบุชื่อ หรืออ้างชื่อผู้ที่เป็นเจ้าของคำพูดหรือคำคมนั้นเสมอ เป็นมายาท เป็นการให้เกียรติ และเป็นการขออนุญาตเจ้าของงานลิขสิทธิ์นั้น  เช่น

เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวว่า อย่าไปสนใจว่าแมวมันจะมีสีอะไรขอให้มันจับหนูได้ก็พอ

หรือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหวัณ กล่าวว่า ก่อนพูด เราเป็นนายคำพูด แต่หลังพูดคำพูดเป็นนายเรา เป็นต้น

6. มือควรวางไว้ลำตัวขณะพูด ควรใช้มือประกอบการพูดเพื่อให้เห็นภาพ หรืออธิบายคำพูดเป็นบางครั้งเท่านั้นอย่าใช้มือพร่ำเพรื่อ แต่สื่อความหมายไม่ได้ และอย่าใช้มือชี้หน้าผู้ฟัง เป็นอันขาด เพราะเป็นการผิดมารยาทการพูดอย่างรุนแรง




  • คำอธิบายทั้งหมด ไม่ได้คัดลอกมาจากหนังสือหรือข้อเขียนจากที่ใด แต่ผู้เขียนเขียนขึ้นจากประสบการณ์และความรู้ที่ครูบาอาจารย์ได้ถ่ายทอดมา ส่วนหัวใจนักพูดเป็นลิขสิทธิ์ของ พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องกราบอนุญาตท่านที่จะนำมาเผยแพร่และอธิบายความเพื่อเป็นวิทยาทานแด่นักพูดรุ่นน้องต่อไป


                                          กังวาล  ทองเนตร


  • ผู้ที่สนใจจะเข้ารับการฝึกอบรมทางการพูด ติดต่อได้ที่  สมาคม ฝึกการพูดแห่งประเทศไทย อาคารสยามคอนโดมิเนียมชั้นบนสุด สี่แยก อ.ส.ม.ท. ถนนพระราม 9 กรุงเทพ ได้ทุกวัน

                                                             กังวาล  ทองเนตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น