กังวาล ทองเนตร

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา Pohthaiblogspot.com

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความหมายของคำและพยางค์








ระบบคำ

ระบบคำหรือระบบหน่วยคำเป็นองค์ประกอบหนึ่งของภาษา




  • หน่วยคำ ( Morpheme ) หมายถึงหน่วยที่เล็กที่สุดในภาษาซึ่งมีความหมาย 
  • หน่วยคำเป็นที่เกิดจากการเรียงลำดับของหน่วยเสียงทำให้เป็นหน่วยที่มีความหมายขึ้นมา หน่วยคำจึงใหญ่กว่าหน่วยเสียง



  • หน่วยคำหนึ่งๆจะต้องมีความหมายคงเดิมเสมอไม่ว่าจะไปปรากฎอยู่ ณ ที่ใด 
  • หน่วยคำ 2 หน่วยคำมีรูปและเสียงเหมือนกันก็ไม่ถือว่าเป็นหน่วยคำเดียวกันจึงเห็นได้ว่าการที่จะตัดสินคำใดว่าเป็นหน่วยคำเดียวกันหรือไม่ให้ดูตามความหมายเป็นเกณฑ์สำคัญ เช่น 

  • คำที่มีรูป เสียง และความหมายเหมือนกันย่อมเป็นหน่วยคำเดียวกัน

ตัวอย่าง



  • คุณกินอะไร 
  • กินข้าวหรือยัง 
  • อย่าห่วงแต่กิน
คำว่า กิน  ที่ปรากฎในประโยคนั้นเป็นคำเดียวกัน เพราะมีรูปเสียงและความหมายเดียวกัน



  • คำที่มีรูป เสียง เหมือนกันแต่มีความหมายต่างกัน ย่อมไม่ใช่หน่วยคำเดียวกัน 


ตัวอย่าง



  • คุณจะไปเวียนเทียนที่วัดไหน 
  • อย่า วัด ค่าของคนด้วยทรัพย์สมบัติ 
  • ช่างตัดเสื้อกำลังวัดตัวเธออยู่ 
  • ผลงานของผมพอจะวัดกับเขาได้หรือไม่

คำว่า วัด ที่อยู่ในแต่ละประโยคแม้จะมีรูปและเสียงเหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละหน่วยคำ เพราะมีความหมายไม่เหมือนกัน



  • คำที่มีเสียงเหมือนกัน แต่ถ้ารูปและความหมายต่างกันก็เป็นคนละหน่วยคำ เช่น

ตัวอย่าง


  • เขาโจษกันถึงเรื่องของคุณเซ็งแซ่ 
  • ผมเป็นโจทก์ในคดีนี้ 
  • โจทย์ข้อนี้ยากเหลือเกิน 


คำว่า โจษ โจทก์ โจทย์ เป็นคนละหน่วยคำ แม้จะออกเสียงเหมือนกัน แต่ มีรูปและความหมายต่างกัน



  • คำที่มีรูป และเสียง ต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่มีความหมายเหมือนกัน ก็อาจ อนุโลมให้เป็นหน่วยคำเดียวกันได้ เช่น

ตัวอย่าง



  • เผลอ แผล็บเดียว เขาหนีไปเสียแล้ว 
  • ผมจะไปแพล็บเดียวเท่านั้น 


คำว่า แผล็บ ที่ใช้ ผ.ผึ้ง และ คำว่า แพล็บ ที่ใช้ พ.พาน ในประโยคอนุโลมได้ว่าเป็นหน่วยคำเดียวกัน เพราะมีความหมายเหมือนกัน แม้รูปเสียงจะต่างกันเล็กน้อยก็ตาม


  • นอกจากนี้ยังมีบางกรณี ซึ่งหน่วยคำที่มีรูป และเสียงต่างกัน แต่ถือว่าเป็นหน่วยคำเดียวกัน เช่น

คลุมเครือ  กับ คลุมเคลือ ที่มีตัวกล้ำเป็น ร.เรือ และ ล.ลิง ถือเป็นหน่วยคำเดียวกัน
ลอมชอม กับ  รอมชอม       " --------------------------"    ถือเป็นหน่วยคำเดียวกัน
อย่างนี้     กับ  อย่างงี้           "                                              "-----------------------" 
ข้าพระเจ้า กับ ข้าพเจ้า         "                                              "-----------------------"


หน่วยคำกับพยางค์มีหลักเกณฑ์แยกอย่างไร

หน่วยคำหนึ่งอาจมีพยางค์เดียว หรือ หลายพยางค์ก็ได้ ( หน่วยคำ กับคำ เป็นคนละเรื่อง  ) เช่น



  • ไป : มี ๑ พยางค์ ๑ หน่วยคำ เป็น ๑ คำ 
  • มะนาว : มี ๒ พยางค์ ๑ หน่วยคำ เป็น ๑ คำ 
  • มะละกอ : มี ๓ พยางค์ ๑ หน่วยคำ เป็น ๑ คำ 


แต่มีบางคำ เกิดจากการรวมหน่วยคำ ก็จะเป็น คำที่มีหลายหน่วยคำ ไม่ใช่หน่วยคำเดียว อาทิ



  • โรงเรียน : มี ๑ คำ มี ๒ หน่วยคำ ๒ พยางค์ 
  • ละเอียดลออ : มี ๑ คำ มี ๒ หน่วยคำ ๔ พยางค์ 
  • พระเจ้าอยู่หัว : มี ๑ คำ มี ๔ หน่วยคำ ๔ พยางค์ 



ประเภทของหน่วยคำ

หน่วยคำมีอยู่ ๒ ประเภท ใหญ่ๆ คือ

๑.  หน่วยคำอิสระ ( Free morpheme ) หมายถึง หน่วยคำที่ปรากฎอยู่ตามลำพัง โดย ไม่ผูกพันกับหน่วยคำอื่น หน่วยคำชนิดนี้จะมีกี่พยางค์ก็ได้  อาทิ กิน เดิน นั่ง สะอาด นครสวรรค์ ร้องเพลง ฯลฯ


  • ข้อสังเกตุ คำที่ใช้เรียกชื่อ สัตว์ ผลไม้ ถือว่าเป็นหน่วยคำอิสระด้วย เช่น มะละกอ สับปะรด มะม่วง มะขามเทศ กระต่าย ฯลฯ 


๒ .หน่วยคำไม่อิสระ ( Bound morpheme ) หรือหน่วยประกอบคำผูกพัน หมายถึง หน่วยคำที่จะปรากฎอยู่อย่างอิสระตามลำพังไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับหน่วยคำอื่นเสมอ เช่น

นัก  การ กร ปฏิ อธิ น่า ผู้ ชาว ใน ฯลฯ จะเกิดหน่วยคำลำพังไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับหน่วยคำอื่น เช่น
การเดิน การฟัง การบ้าน ความรู้ ชาวนา นักการเมือง ในบ้าน ผู้ร้าย ผู้ดี เป็นต้น

หน่วยคำไม่อิสระนี้ยังสามารถแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ประเภท

  1. อุปสรรค ( Prefix ) กลุ่มนี้จะประกอบอยู่ข้างหน้าหน่วยคำอื่น เช่น การ ชาว โรง เป็นต้น
  2. อาคม     ( Infix )    กลุ่มนี้จะประกอบอยู่ตรงกลางหน่วยคำอื่น เช่น อำ ตัวอย่าง กราบ เป็น กำราบ
  3. ปัจจัย      ( Suffix)  กลุ่มนี้จะประกอบ อยู่หลังหน่วยคำอื่น เช่น แล้ว ก็จะเป็น ไปแล้ว ขึ้น เป็น ดีขึ้น เป็นต้น

  • ดังที่ผมได้อธิบายไว้แล้วในก่อนหน้า ว่า ภาษาไทยนั้น เดิมเป็นภาษาคำโดด คำไทยโบราณ จึงเป็นคำพยางค์เดียวโดดๆ ไม่เหมือนภาษาอังกฤษ ที่ใช้ รากศัพท์เดิม ( Root ) มาลงอุปสรรค หรือ Prefix และลง ปัจจัย หรือ Suffix เพื่อประกอบเป็นคำใหม่ออกมาดังที่ทราบกัน


กังวาล  ทองเนตร รัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครองมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น