วรรณคดีคือ หนังสือที่เรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวย ถ้อยคำไพเราะ เป็นภาพศิลปะ เป็นภาพมายา ภาพสมมุติอันเกิดจากจินตนาการ ให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้คุณค่าทางอารมณ์ ให้คุณค่าทางจินตนาการ ให้คุณค่าทางสติปัญญา ให้คุณค่าทางวัฒนธรรม ให้คุณค่าทางศีลธรรม และเป็นผลิตผลทางภาษา เกิดความจรรโลงใจทั้งธรรมชาติและสังคม
งานเขียนทุกเรื่องทุกประเภท เราเรียกว่าวรรณกรรม แต่มีเพียงวรรณกรรมบางเรื่องเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องและยกให้เป็น วรรณคดี
วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น
1. ลิลิตโองการแช่งน้ำ
ผู้แต่งไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าจะเป็นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
( พระเจ้าอู่ทอง )
ลักษณะของคำประพันธ์
แต่งเป็นลิลิต ( โคลงสลับร่าย ) โคลงที่แต่งจะเป็นโคลงห้ามณฑกคดี ส่วนร่าย จะเป็นร่ายดั้นโบราณ
ลักษณะของเรื่่อง
เป็นการนำเอาพิธีไสยศาสตร์ของขอมมาใช้ คือพิธีสาบานตน โดยดื่มน้ำที่แช่งด้วยมนต์ เรียกแบบสามัญว่าพิธีถือน้ำ ราชการเรียกว่า ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา
เนื้อเรื่องโดยย่อ
เป็นการกลฃ่าวอัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ ไฟบรรลัยกัลป์ พระพรหม กษัตริย์ ตลอดจนคำสาปแช่งผู้ที่คิดคดทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน
ที่มาของเรื่องนี้ ต้นฉบับจะเป็นภาษาขอม
ตัวอย่างคำประพันธ์
โอมสิทธิสรวงศรีแล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่นแกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน ปิ่นเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข จักรคธาธรณี ภีรอวตาร อสูรแลงลาญ ทักขาทักษูณาจรฌาย ฯ
2. มหาชาติคำหลวง
ผู้แต่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้นักปราชญ์ช่วยกันแต่ง
ลักษณะของคำประพันธ์ เป็น โคลง ร่าย กาพย์ ฉันท์ และคาถาภาษาบาลี
ลักษณะของเรื่อง
เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลธรรม ใช้คำประพันธ์หลายประเภทดังที่กล่าวมาแล้วแต่ข้างต้น ใช้สำหรับสวดในวันสำคัญทางศาสนา
เนื้อเรื่องย่อ
แบ่งออกเป็น 13 กัณฑ์ดังนี้
- กัณฑ์ทศพร
- กัณฑ์หิมพานต์
- กัณฑ์ทาน
- กัณฑ์วนปเวสน์
- กัณฑ์ชูชก
- กัณฑ์จุลพน
- กัณฑ์มหาพน
- กัณฑ์กุมาร
- กัณฑ์มัทรี
- กัณฑ์สักกบรรพ
- กัณฑ์มหาราช
- กัณฑ์ฉกษัตริย์
- กัณฑ์นครกัณฑ์
ภาพประกอบทั้ง 13 กัณฑ์เทศน์ตามลำดับ
มหาชาติคำหลวง เดิมแต่งเป็นภาษา มคธ และได้แปลเป็นไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ต้นฉบับเดิมสูญหายไป พระบรมไตรโลกนาถจึงได้เรียกชุมนุมนักปราชญ์ของกรุงศรี แปลและแต่งเมื่อ จุลศักราช 844
ตัวอย่างคำประพันธ์
สัตตสดกมหาทาน
ช้างแต่งม้าแต่งเรื้อง รถรดับ แต่งแฮ
นางแลนางกระษัตรสัพ แต่งไว้
วววถนนทาษสาวกับ ทาษบ่าว เล่ามา
เจ็ดเจ็ดร้อยธให้ ชื่อให้สับดสดกอนนเลอศแล ฯ
( ผมไม่ได้พิมพ์ผิด แต่คัดมาตามต้นฉบับ )
3. ลิลิตยวนพ่าย
ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
ลักษณะคำประพันธ์เป็นแบบลิลิตดั้น คือ ร่ายดั้น สลับโคลงดั้นบาทกุญชร
เนื้อเรื่อง เป็นการยอเกียรติ พระบรมไตรโลกนาถ ด้วยร่ายดั้น 2 บท และโคลงดั้นบาทกุญชร 365 บท
เรื่องย่อ
เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระพุทธเจ้า ตามด้วยพระบรมไตรโลกนาถ การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่ ได้เมืองเชียงชื่น และสุดท้ายกล่าวสรรเสริญพระบรมไตรโลกนาถ
ที่มาของเรื่อง เชื่อกันว่าเกิดจากอิทธิพลเรื่องชาตินิยม ในการที่กรุงศรีมีชัยชนะต่อเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2017 ตีได้เมืองเชียงชื่น เป็นเหตุให้กวีผู้หนึ่งแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา
รูปแบบคำประพันธ์เป็นคำโบราณสลับกับคำภาษาสันสกฤต
ตัวอย่างคำประพันธ์
ข้าไทธิเบศรผู้ ใดใด ก็ดี
ตายเพื่อภักดีโดย ชื่อพร้อม
คือคนอยู่เปนใน อิรโลกย
นรโลกยนางฟ้าล้อม เลอศอิทร ฯ
สมัยอยุธยาตอนกลาง ( ยุคทองวรรณคดี )
1. จินดามณี
ผู้แต่ง พระโหราธิบดี
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นร้อยแก้ว สลับด้วยคำประพันธ์ ร้อยกรองประเภทต่างๆ
ลักษณะเรื่อง เป็นแบบเรียนสอนคนไทย เพื่อไม่ให้ฝักใฝ่พวกฝรั่ง มีการใช้อักษรหมู่ 3 หมู่ มีการ ผันอักษร การสะกดคำ รวมถึง วิธีการแต่งคำประพันธ์ประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์และกลอน
ที่มาของเรื่อง เชื่อว่าเกิดจากการที่ฝรั่งได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และเกรงว่าคนไทยจะไปนิยมเข้ารีตด้วย สมเด็จพระนารายณ์จึงให้แต่ง จินดามณีขึ้นเพื่อให้ใช้เป็นแบบเรียนของตนเอง
**หมายเหตุ จินดามณีเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย ใช้คำประพันธ์หลายแบบ เช่นร่าย โคลง ฉันท์ กาพย์ เป็นต้น
2. สมุทรโฆษคำฉันท์
ผู้แต่งมี 3 ท่านคือ พระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์ และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ลักษณะคำประพันธ์ แต่งด้วย กาพย์ และ ฉันท์ จบด้วยโคลง 4 บท
ลักษณะเนื้อเรื่อง เป็นเรื่องเป็นเรื่องชาดกในพุทธศาสนาที่ศาสดาได้เสวยชาติเป็นพระสมุทรโฆษ
เรื่องย่อ
พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระสมุทรโฆษ เป็นโอรสของท้าววินททัต วันหนึ่งพระสมุทรโฆษเสด็จออกคล้องช้าง และพักอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เทพารักษ์ได้อุ้มไปสมสู่กับนางพินทุมดี แห่งรมยนคร แล้วก็พากลับมาไว้ที่เดิม ทั้งคู่ก็ทรงคร่ำครวญหากัน จนในที่สุดพระสมุทรโฆษได้เข้าประลองศร จนมีชัย ได้สยุมพรกับนางพิทุมดี ภายหลังได้พระขรรค์วิเศษจากวิทยาธร ตนหนึ่ง ซึ่งพระองค์เคยช่วยเหลือไว้จากการถูกทำร้าย พระสมุทรโฆษได้พานางพินทุมดีเหาะไปเที่ยวที่ป่าหิมพานต์ แต่ถูกวิทยาธรอีกคนแอบลักขโมยพระขรรค์ไป จึงต้องพลัดพรากจากกันต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากนางมณีเมฆขลา ทั้งสองจึงได้พบกันและเสด็จกลับบ้านเมืองอย่าง แฮปปี้เอนดิ้ง
ที่มาของเรื่อง
เป็นการแต่งโดยนำโคลงเรื่องมาจากสมุทรโฆษชาดกซึ่งรวมอยู่ใน ปัญญาสชาดก ( นิทาน 50 เรื่อง ) แต่บางตอนไม่เหมือนสมุทรโฆษชาดก
ตัวอย่างคำประพันธ์
อ้าอรอย่าอ่อนระอิด ระอาคิดกมลหมาง
บุญมีมิวายวาง ชีวาวอดคงรอดคืน
อ้าพระแม้บาปเบียฬ คือเวรเวียนฆฝ่าฝืน
ชีวาตมจักยืน อยู่ยืดยั้งบ่หยั่งยล
3. กำสรวลศรีปราชญ์
ผู้แต่ง ศรีปราชญ์
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงดั้นบาทกุญชร บทแรกเป็นร่ายดั้น
ลักษณะเรื่อง เป็นการพรรณนาถึงความรู้สึกที่มีต่อคนรักในการที่จะต้องพลัดพรากจากกันโดยเปรียบเทียบชื่อตำบลที่ผ่านกับความอาลัยที่มีต่อนาง
เรื่องย่อ
ตอนต้นเป็นการสดุดีกรุงศรี ต่อจากนั้นกล่าวถึงการที่ต้องจากนางแสดงความเป็นห่วงว่าไม่รู้จะฝากใครดีเมื่อเดินผ่านตำบลใดก็รำพันเปรียบเทียบชื่อตำบลกับคนรัก นอกจากนี้ยังมีการนำชื่อบุคคลในวรรณคดีมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเองด้วย เช่นพระราม นางสีดี พระสมุทรโฆษและนางพิทุมดี เป็นต้น
ที่มาของเรื่อง เนื่องจากศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชจึงแต่งเรื่องนี้ขึ้นเพื่อแสดงความรู้สึกและบันทึกสิ่งต่างๆที่เส้นทางที่ผ่านพบ กำสรวลศรีปราชญ์ถีอว่าเป็นงานชิ้นเอกของศรีปราชญ์
ตัวอย่างคำประพันธ์
โฉมแม่จากฟากฟ้า เกรงอินทร หยอกนา
อินทรท่านเทอดโฉมเอา สู่ฟ้า
โฉมแม่กกฝากดิน ดินท่านแล้วแฮ
ดินฤาขดดเจ้าหล้า สูสสิองสิ
( ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ ) ตรงสระอิ สิ ที่วรรคท้าย จะเป็นเหมือนเลข ศูนย์ อยู่บน ส.เสือ เป็นบาลีสันสกฤต และจะมีคำอย่างนี้ซ้ำอยู่หลายที่
4. ทวาทศมาส
ผู้แต่ง พระเยาวราช ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ
ลักษณะคำประพันธ์โคลงดั้นวิวิธมาลี
ตัวอย่างคำประพันธ์
อักนิษเลื่องโลกล้ำ โษฬส
บัณฑุกัมพลอิทร อาสนแก้ว
เมรุทอง ร รองทศ ศาภาคย์
ฤาอาจทรงทุกข์แผ้ว ที่ตรอม
สมัยอยุธยาตอนปลาย
1.พระมาลัยคำหลวง
ผู้แต่ง พระเจ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นร่ายสุภาพ มีคาถาภาษาบาลีแทรกอยู่ด้วย ส่วนตอนท้ายเป็นโคลงสี่สุภาพ
เนื้อเรื่อง
เป็นเรื่องเทศนา นรก สวรรค์ ซึ่งพระมาลัย เทศน์โปรดมนุษย์
เริ่มด้วยนมัสการพระรัตนตรัย และกล่าวถึงพระมาลัย ธุดงค์โปรดสัตว์แล้วขึ้นไปนมัสการพระธาตุจุฬามณีที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบพระศรีอาริย์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นศาสดาในอนาคตเมื่อศาสนาของสมณโคดมสิ้นสุดลง 5,000 ปี แล้วจะเข้าสู่ยุคพระศรีอาริย์บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากการฆ่าฟัน
ตัวอย่าง
ส่วนว่าพรรคสตรี บ่เสพสามีเป็นสอง ฝ่ายบุรุษครองหญิงเดียว ห่อนโทนเที่ยวแสวงหา เพิ่มภรรยาสองคน ห่อนล่วงกลกามอื่น ลอบชมชื่นเมียชาย เมียเดียวตายจนนาศ รังพิศวาส เสน่หังอัญบัญญังทั้งสอง ครอบครองกันทุกเมื่อแล
2.นันโทปนันทสูตร
ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะคำประพัน์ เป็นร่ายแทรกภาษาบาลี ตอนท้ายเป็นโคลงสี่สุภาพ
เรื่องย่อ
พญานาคนันโทปนันท์ เกิดจากทิฐิมานะอหังการ กล่าวคำดูหมิ่นพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงให้โมคคัลลาน์สั่งสอนโดยการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จนนันโทปนันท์ สิ้นฤทธิ์ ยอมแพ้และยอมนมัสการพุทธองค์
ที่มาของเรื่อง มาจากเรื่องนันโทปสูตรนันทสูตรในคัมภีร์ ฑีฆนิกายสิลขันธ์ ซึ่งพระมหาพุทธสิริเถระเรียบเรียงไว้เป็นภาษาบาลี
ตัวอย่าง
แม้ในวันกาลนั้น อันว่านนโทปนนทนาคราชก็กล่าวคำวิปลาศนานา กอปรด้วยมฤจฉาทฤษฎี เป็นวจีลามกยิ่งนัก กมีลักษณะดังนี้ อันว่าพวกชีสรมณ อันโกนสีสะเหล่านี้ไส้ ย่อมไปสู่เทวา อันอยู่ดาวะดึงษาสถาน กมาเหนือพิมานแห่งเรา ฯ
3. กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท
ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะคำประพันธ์ ใช้กาพย์ยานีย์ 11 สลับ โคลงสี่สุภาพ เป็นทำนองนิราศ
เนื้อเรื่อง
กล่าวถึงความงามของนางที่ต้องจากกันโดยรำพึงเป็น ยาม วัน เดือน ฤดู และปี
ตัวอย่างคำประพันธ์
โมงเช้าแล้วเจ้าพี่ เจ้าถ้วนถี่ดีการเรือน
หญิงใดไม่มีเหมือน ใช้สอยดีพี่เคยชม
4. ปุณโณวาทคำฉันท์
ผู้แต่ง พระมหานาค วัดท่าทราย
ลักษณะคำประพันธ์ใช้ ฉันท์และกาพย์
ลักษณะเรื่องเป็นการพรรณนาความรู้สึกและสิ่งที่ได้พบเห็นในโอกาสที่ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี
ที่มาของเรื่อง นำมาจากปุณโณวาทสูตร
ตัวอย่างคำประพันธ์
ใบโพธิ์สุวรรณห้อย รยาบย้อยบรุงรัง
ลมพัดกระดึงดัง เสนาะคัพทอลเวง
เสียงดุจเสียงคีต อันดึงดีดประโคมเพลง
เพียงเทพบรรเลง รเรื่อยจับระบำถวาย
5. กลบทสิริวิบุลกิติ์
ผู้แต่ง หลวงศรีปรีชา ( เซ่ง )
ลักษณะคำประพันธ์เป็น กลอนกลบท 86 ชนิด
เนื้อเรื่อง พระโพธิสัตว์มาปฏิสนธิในครรภ์พระนางศิริมดี มเหสีพระเจ้ายศกิติ แห่งนครจัมบาก
ตัวอย่างคำประพันธ์
ข้าชื่อเซ่งเขียนชื่อซ้องจองนามหมาย ล้ำไว้ชื่อลือว่าชายไว้ศักดิ์ศรี
พระบัณฑูรพูนบันเทิงพระทัยทวี ตั้งยศแสงแต่งยศศรีหลวงปรีชา
กังวาล ทองเนตร
ขอบคุณค่ะ
ตอบลบ