กังวาล ทองเนตร

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา Pohthaiblogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

อย่ายอมตายเพื่อใคร



ชีวิตของคนไทย

ตั้งแต่เกิดมาจำความได้ เราถูกอิทธิทางความคิด ถูกแบบแผน กฎเกณฑ์ทางสังคม ถูกความคิดของผู้อื่น ยัดเยียดเข้าไปอยู่ในเซลล์สมองเราตั้งแต่เรายังแยก ผิด-ชอบ, ดี-ชั่ว ยังไม่ได้


เรามารู้สึกตัวอีกทีก็ตอนที่ความคิดขยะของผู้อื่นเข้าไปเต็มความจุของสมองเราแล้ว จนบางคนไม่สามารถลบล้างความคิดที่ถูกยัดเยียดและปลูกฝังนั้นออกไปได้


เราถูกสอนให้เชื่อ มากกว่าให้คิดเองว่า ทำไมต้องเชื่อ
เราถูกสอนและบังคับให้กราบ ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักคนที่เรากราบ และก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องกราบ โดยที่ไม่ยอมเปิดช่องให้เราตั้งคำถามและเสนอความคิด
เราถูกสอนว่าให้เสียสละชีวิต เพื่อคนโน้นคนนี้ ทั้งที่เขาไม่เคยมาตักข้าวใส่ปากเราแม้เพียงเมล็ดเดียว


ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้  เมื่อเราเติบโตขึ้น เราจะเริ่มใช้ความคิดของตนเองมากขึ้น วิเคราะห์มากขึ้น มีเหตุปัจจัย  มีข้อมูล มากขึ้น ประกอบการตัดสินใจของเรา


แต่ความรู้ที่เราได้สังเคราะห์ขึ้นมาใหม่นี้  มันมักจะสวนทาง กับ  แบบแผน และวัฒนธรรมทางสังคมที่เราอยู่อย่างสิ้นเชิง  เมื่อเราแสดงออกความรู้นั้น ผ่าน การพูด การเขียน การโฆษณา เรามักจะตกเป็นจำเลยทางสังคมไม่มากก็น้อย ในฐานะที่ไม่เคารพภูมิหลังทางสังคม ไม่เคารพวัฒนธรรมทางสังคม


เมื่อเราแสดงออกไม่ได้ทั้งที่เรามีองค์ความรู้นั้น เราก็จะอยู่ในสังคมนี้อย่างเสียมิได้  ไม่ได้ต่างจากหุ่นยนต์  ที่ถูกโปรแกรมมาว่า ให้พูด ให้กระทำ ให้โต้ตอบ ได้ตามที่โปรแกรมได้ตั้งค่าไว้เท่านั้น   โดยไม่มีจิตสำนึกและวิญญาณที่แท้จริงแห่งตัวตนแต่อย่างใด


สังคมไทยมันจึงเหมือนคนที่กำลังอั้นถ่ายอุจจาระมานานแสนนาน รังแต่คนที่อั้นนั้นจะป่วยตาย ของเก่ามันจะออกไม่ให้มันออก  ฝีมันถึงเวลาจะแตก ไม่ยอมให้มันแตก สุดท้ายก็มีสภาพ ป่วยทั้งเมืองอย่างที่เป็น อย่างเห็นในทุกวันนี้


ธรรมชาติของมนุษย์ควร ได้มีโอกาสในการคิด วิเคราะห์ ตั้งสมมุติฐาน หาหลักฐาน หาความจริงมาประกอบ ความคิดความเชื่อนั้นด้วย


ส่วนตัวผมมองมนุษย์ทุกคนบนพื้นฐานเดียวกันคือ เป็นมนุษย์ขี้เหม็นเหมือนกัน อยู่ในวัฎจักร วงจรชีวิตเดียวกัน มีอวัยวะทุกส่วนเหมือนกัน  และที่สำคัญ ปฏิสนธิ มาจากไข่และอสุจิ เติบโตมาจากมดลูก ลอดออกมาจากช่องคลอดมารดาเหมือนๆกันทั้งสิ้น


เมื่อพื้นฐานเรามีที่มาเท่าๆกัน เราจึงเท่าเทียมกันทางธรรมชาติ สิ่งที่เราจะเคารพกันในสังคมคือ 


1.  เคารพในหน้าที่ คนๆหนึ่งจะมีหน้าที่ใดในสังคม เราเคารพในหน้าที่นั้นตามความเหมาะสมแก่ตำแหน่ง
2. เคารพในบทบาท  บุคคลๆหนึ่งอาจมีหลายบทบาทได้ เช่น เป็น เจ้านายของใครหลายคน  แต่ก็เป็นลูกน้องใครหลายคน  หรืออาจ เป็น พ่อ เป็นแม่ ซึ่งแต่ละบทบาทแตกต่างกันออกไป


3. เคารพในสิทธิ บุคคลๆมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการกระทำ หรือละเว้นการกระทำนั้นและกฎหมายให้การรับรอง ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น


4. เคารพในหลักเหตุผล ความเห็นของเราจะแตกต่างกันอย่างไรก็ได้ และเรามีสิทธิโดยชอบที่จะแสดงและกล่าวอ้างถึงหลักเหตุผลที่เรา เชื่อเรามีได้ตามความจำเป็น


5. หลักเสียงข้างมากและการยอมรับ เป็นหลักการหาข้อยุติ ในกระบวนการความคิดความเห็นใดก็ตาม เมื่อเราได้แสดงออกถึงความคิดและเหตุผลนั้นแล้ว กระบวนการยุติหรือหาข้อสรุปในความคิดนั้นก็คือหลักการเสียงข้างมากของสมาชิกในสังคม ถือเป็นข้อยุติ


ซึ่งถ้าว่ากันตามจริงก็คือแบบแผนชีวิตทั่วไปที่เราใช้ดำเนินชีวิตในสังคมนั่นเอง หรือก็เป็นแบบแผนทางการปกครองรูปแบบประชาธิปไตยนั่นเอง


เมื่อเรามีหลักคิดได้ดังนี้แล้ว เราก็สามารถแยกแยะออกได้ว่า ส่วนใด แค่ไหน อย่างไร


เมื่อเรามีหน้าที่ใด เราสวมตำแหน่งใด บทบาทใดในสังคม เราต้องดำเนินบทบาทนั้น หน้าที่นั้นให้ดีที่สุด


คนเป็นทหารก็ปกป้องชาติและแผ่นดิน
ผู้มีบทบาทเป็นพ่อแม่ ก็สวมบทบาทนั้นให้ดี
ผู้มีบทบาทเป็นผู้นำก็ดำเนินบทบาทของตนอย่าให้บกพร่อง
ผู้เป็นลูกก็สวมบาทของตนเช่นเดียวกัน


คนในสังคมแม้จะมีพื้นฐานความเป็นคนตามธรรมชาติแบบแผนเดียวกัน
แต่คนในสังคมไม่ได้เคารพคนทุกคนเสมอเหมือนกัน
คนที่เป็นบุพการี ของเราเราย่อมให้ความเคารพมากกว่าบุคคลอื่นเป็นธรรมดา ในฐานะผู้ให้กำเนิด เลี้ยงดู เราย่อมสละชีวิตให้บุคคลเหล่านี้ได้ และบุคลลเหล่านี้ก็ย่อมสละชีวิตเพื่อเราได้เช่นกันตามธรรมชาติของมันเอง


ชาติหรือแผ่นดินเกิด อาศัย ทำกิน ก็เป็น อีกส่วนที่เราจะต้องแลกชีวิตเพื่อปกป้องไว้ได้เช่นกัน เพราะถ้าไร้แผ่นดินก็ไร้สิ้นเผ่าพันธุ์ และสถานะทางสังคมใดๆด้วย


พื้นฐานทั่วไปที่คนจะเสียชีวิตให้ได้ ก็มีเพียงเท่านี้


จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาได้อีก ก็เป็นกรณีเฉพาะบุคคลไป เช่น ผู้มีพระคุณอื่นที่ไม่ใช่บุพการี หรือ คนรัก คู่รัก แต่ไม่ใช่แบบแผนปฏิบัติทางสังคมโดยทั่วไป เป็นความกตัญญูกตเวทีที่บุคคลต้องสร้างและรักษาไว้เพื่อแสดงออกให้สังคมรับรู้


ดังนั้นนอกเหนือจากชาติ และบุพการี ผู้มีคุณแล้ว ตัวบุคคลอื่นใด ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตผม ผมจะไม่ยอมสละชีวิตให้คนผู้นั้นอย่างเด็ดขาด และผมก็เชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นก็ไม่มีวันสละชีวิตเพื่อผมเช่นกัน


คำตอบของเราจึงง่ายมาก ใครที่เราจะเสียสละชีวิตให้ก็คือคนที่ยอมสละชีวิตให้เราเช่นกัน  ส่วนแผ่นดินเกิด เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องสละทุกอย่างเพื่อปกป้องและรักษาเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น