พรรคการเมืองไทย
- ตามนิยามหรือตามทฤษฎี คำว่าพรรคการเมือง หมายถึงที่ที่คนซึ่งมีอุดมการณ์ ความคิดเห็นเดียวกัน สอดคล้องกัน หรือคล้ายเคียงกัน มารวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง แต่ในความเป็นจริงพรรคการเมืองของไทย หาใช่อย่างนั้นไม่
- พรรคการเมืองไทยมักก่อตัวหรือถือกำเนิดขึ้นจากชนชั้นนำในสังคม หรือกลุ่มชนชั้นปกครอง เช่นขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และมีตำแหน่งทางสังคม บุคคลเหล่านี้เป็นคนกลุ่มแรก ที่ก่อตัวเป็นพรรคการเมืองขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนการงอกส่วนหัวขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆเติบโต ลงมาที่ส่วนลำคอ ลำตัว แขนและขาในภายหลัง
ซึ่งการเติบโตลักษณะนี้ แน่นอนว่าเป็นการเติบโตที่ผิดวิธี ผิดธรรมชาติ ของพรรคการเมืองที่ดี เพราะไม่ได้ ก่อตัวจากประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในชาติ เราจึงมักจะพบว่า พรรคการเมืองไทย ส่วนใหญ่ ก่อตัวขึ้นมาเพื่อ รองรับบุคคล รองรับคณะบุคคล และรองรับภาระกิจเร่งด่วนบางประการ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ สถาบันทางการเมืองขั้นพื้นฐานของไทย อ่อนแอ และไม่สามารถขยายฐานสมาชิก ออกไปให้ถึงระดับรากหญ้าได้
พรรคการเมืองของไทยขาดอุดมการณ์สาธารณะ
กล่าวคือ เมื่อพรรคการเมืองก่อตัวขึ้นจากกลุ่มคน ภาระกิจจึงเป็น ภาระกิจเฉพาะหน้าเฉพาะกิจ ของกลุ่มบุคคลเท่านั้น และพรรคการเมืองไทย มิได้มีความต้องการที่จะขยายฐานรากออกสู่ประชาชนเลย
ประชาธิปไตยฐานราก
พื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในส่วนที่เป็นฐานราก ฐานรากเปรียบเสมือนเสาตอม่อของชาติ ในทุกระบบ ระบบใดก็ตาม เมื่อขาดซึ่งฐานรากนี้แล้ว จะไม่สามารถขับเคลื่อนหรือดำเนินการต่อไปให้มุ่งสู่จุดสูงสุดได้เลย เพราะการที่พรรคการเมืองไม่ได้ให้ความสนใจกับฐานราก จึงไม่พยามที่จะขยายหรือสาขาพรรค ออกสู่ชนบท
สาขาพรรค และศูนย์ประสานงานของพรรคการเมือง
เราจะพบว่า สาขาพรรคหรือ ศุนย์ประสานงานของพรรคการเมืองในระดับภูมิภาค มิได้มีที่ตั้งที่ถาวร หรือชัดเจน หรือเป็นทรัพย์สินของพรรคการเมืองนั้นๆแต่อย่างใด แต่สาขาพรรค/ศูนย์ประสานงานพรรคกลับเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ของสมาชิกพรรคบางคน ที่มีอำนาจ มีอิทธิพลในพรรค หรือในท้องถิ่นนั้นๆ เราจะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ใช้เป็นที่ตั้งสาขาพรรค หรือศูนย์ประสานงานพรรค ย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองพรรคใหม่ ป้ายชื่อสาขาพรรค และศูนย์ประสานงานพรรค ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบันตามไปด้วย
การบริหารงานในศูนย์หรือสาขาพรรค
- นี่ก็เป็นจุดอ่อนและอีกช่องโหว่หนึ่งในระบบพรรคการเมืองไทย เพราะสาขาพรรค มักถูกครอบงำจากบุคคลที่เป็นเจ้าของสถานที่ที่ตั้งสาขาและศูนย์ประสานงานพรรคไปด้วย จากการศึกษาของผมจะพบว่า ประธานสาขาพรรค หรือประธานศูนย์ประสานงานพรรค ก็มักจะเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมก็คนที่ที่เป็นเจ้าของสถานที่ตั้งนั่นเอง
ปัญหาการผูกขาดการบริหารในสาขาพรรคกระทบต่อโคร้างสร้างพรรคอย่างไร
- จากการศึกษาจะพบว่าเมื่อกรรมการบริหารสาขาพรรค เป็นคนกลุ่มเดียว ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจส่งคนในพื้นที่เพื่อลงสมัครเป็นตัวแทนในระดับต่างๆ จะพบว่า ผุ้ที่ลงสมัครส่วนใหญ่มักเป็นเครือญาติหรือกลุ่มคนใกล้ชิดกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของสถานที่ตั้งตรงนั้นด้วย
รวมไปถึงการคัดเลือกตัวแทนสาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรค เพื่อไปทำหน้าที่โหวตเตอร์ เพื่อเข้าไปโหวตเลือกกรรมการบริหารพรรคในส่วนกลาง ก็มิได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย แต่มีการคัดเลือกตัวบุคคลที่ไว้ใจไว้แล้วเพื่อไปทำหน้าที่นี้ เมื่อโหวตเตอร์ถูกล็อคตัว พร้อมมีรายชื่อบุคคลที่ถูกสั่งให้เลือกเป็นกรรมการบริหารพรรค ผลออกมาก็เป็นเพียงพิธีกรรมตบตา เพื่อให้ถูกต้องสมบูรณ์ครบขั้นตอน ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองเท่านั้นเอง
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคำพูดที่ว่า พรรคเครือญาติ พรรคตระกูล และนำไปสู่สภาเครือญาติในที่สุด
วิธีการแก้ปัญหาในสาขาและศูนย์ประสานงานพรรค
การแก้ปัญหาจุดนี้สามารถกระทำได้โดย ทำให้พรรคการเมืองมีลักษณะดังนี้
- ทำให้พรรคการเมืองเป็นสาธารณะและเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริงโดยไม่ผูกขาดติดยึดอยู่กับกลุ่มทุน กลุ่มบุคคลผู้ก่อตั้งพรรค
- เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริงในระดับฐานรากและทุกระดับ
- ภาครัฐต้องให้การสนับสนุน หรือดึงดูดใจให้ประชาชนเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อให้ประชาชนเข้าไปคานอำนาจการบริหารภายในพรรคเสียก่อน
- การสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ควรมีเป้าหมายเพื่อ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองไว้ เพื่อที่จะได้ใช้โอกาสนั้นเสนอแนะ ลงมติ ร่วมมือ เพื่อเป็นการส่งเสริมระบบพรรคให้เข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อเป็นพวก เป็นพรรค แต่ควรเป็นเพื่อรักษาสิทธิของตนเองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง
- เปิดโอกาสให้มีการจดตั้งพรรคการเมืองให้ง่ายขึ้น และเมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ หรือไม่ทำกิจกรรมพรรคการเมือง ทรัพย์สินทั้งหมดของพรรคการเมือง ไม่ควรถูกยึดเข้าเป็นของรัฐ แต่ควรตั้งองค์กรทางการเมืองขึ้นมารองรับเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ ให้มีหน้าที่ บริหารจัดการดูแลทรัพย์สินพรรคการเมืองที่ถูกยุบ และมอบอำนาจในทรัพย์สินนั้นให้พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่หรือมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพรรคการเมือง โดยให้พิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ และเมื่อพรรคดังกล่าวล้มพรรคก็ให้ทรัพย์นั้นตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางต่อไป เป็นต้น
- ให้ภาครัฐสนับสนุนเงินให้แก่พรรคการเมืองที่มีการขยายฐานสมาชิกพรรคและสาขา/ศูนย์ประสานงานพรรคเป็นสำคัญ แทนการนับตัวเลข ส.ส.ในสภาเพราะจะทำให้พรรคการเมืองมองแต่ยอดตัวเลขในสภา จนละเลยฐานสมาชิกไป
- ให้หน่วยงานรัฐ หรือ ก.ก.ต.สร้างสถานที่ใช้เป็นสาขาพรรคให้พรรคการเมืองได้เช่า เพื่อทำกิจการพรรคการเมือง
- ให้สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรค เป็นหน่วยคัดกรองผู้ที่จะลงสมัคร เป็นตัวแทนพรรคในระดับต่างๆ แทนส่วนกลาง ซึ่งโดยมากส่วนกลางจะคัดคนและส่งลงสมัครโดยที่สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรคไม่ได้คัดเลือกเอง หรือคัดเลือกเฉพาะกลุ่มคนของตนเองที่มีอำนาจในสาขาพรรค/ศูนย์ประสานงานพรรคเท่านั้น
- การเลือกตั้งขั้นต้นหรือไพมารี่โหวต สามารถจัดขึ้นได้โดยให้สาขาพรรคหรือศูนย์ประสานงานพรรคในแต่ละภูมิภาคที่จะมีการเลือกตั้งจัดขึ้น และให้สมาชิกที่เสนอตัวเองเป็นตัวแทนพรรค ได้มีโอกาสหาเสียงสนับสนุนตนเองเต็มที่ ก่อนให้สมาชิกในศูนย์หรือสาขานั้นโหวต
- การโหวตคัดสรรคนที่จะมาเป็นตัวแทนพรรคลงสมัครในท้องถิ่นนั้นๆต้องทำโดยเปิดเผย โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคในสาขา/ศูนย์นั้นๆ ที่ต้องการจะร่วมโหวต แสดงตนลงทะเบียนไว้กับศูนย์ประสานงาน และให้ศูนย์ประสานงานหรือสาขาพรรค เปิดเผยตัวเลขสมาชิกผู้ที่มีความประสงค์จะลงคะแนนให้ชัดเจนต่อสาธารณะ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
พรรคการเมืองพรรคแรกของไทย
ตามพฤตินัย พรรคการเมืองพรรคแรกของไทยคือ พรรค คณะราษฎร นั่นเอง กล่าวคือ การที่จะระบุว่า กลุ่มใดคณะใดเป็นพรรคการเมืองหรือไม่ ต้องคำนึงจากหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- มีแนวนโยบายในการบริหารรัฐหรือประเทศ ซึ่งคณะราษฎร มีหลักปกครอง 6 หลักซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่ชัดเจน
- มีอุดมการณ์และมีการรวมตัวกันของคนที่ประกอบเป็นคณะ
- มีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการอำนาจรัฐมาไว้ในมือ เพื่อให้นโยบายที่ตนเองวางไว้สัมฤทธิ์ผล
- มีโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างการบริหารภายในองค์กรชัดเจน
- ซึ่งตามหลักเกณพ์นี้ คณะราฎรจึงเป็นพรรคการเมืองชัดแจ้งในทางพฤตินัย และในเวลาต่อมา ยังมีบุคคลในคณะราฎรพยายามที่จะเปิดรับสมาชิก เพื่อแสดงตนเป็นพรรคการเมืองอีกด้วย
- เมื่อปี พ.ศ.2476 หนึ่งปีถัดมาหลังจากการเปลี่ยนแปลง นักการเมืองยุคนั้น อย่าง หลวงวิจิตรวาทการ มีความพยายามที่จะจดแจ้งก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อ พรรค คณะชาติ แต่รัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมือง
- ส่วนพรรคการเมืองที่มีการจดแจ้งเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทย ตามนิตินัยคือ พรรคก้าวหน้า ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นสวนทางกับ คณะราษฎร แต่ก็ยังไม่ได้ลงสนามเลือกตั้ง ต่อมาได้ยุบรวมกันกับพรรคประชาธิปัตย์
กังวาล ทองเนตร คณะรัฐศาสตร์ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น