- เมื่อพูดถึงรูปแบบการปกครอง ในโลกนี้ จัดได้ว่ามีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน แต่นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า ควรจำแนก ตามรูปแบบการใช้อำนาจ ที่มาของอำนาจ ออกเป็นประเภทใหญ่ และรวมรูปแบบหรือลัทธิปกครองที่ ออกไปแนวทางเดียวกันไว้ในหมวดหมู่เดียวกันจะเป็นการเข้าใจง่ายกว่า
ดังนั้นเมื่อจำแนกประเภทใหญ่ออกไปแล้ว รูปแบบการปกครองในโลกจึงน่าจะมีอยู่ 2 ระบอบใหญ่ๆด้วยกันคือ
- ระบอบเผด็จการ ( Dictatorship )
- ระบอบประชาธิปไตย( Democracy )
ระบอบเผด็จการนี้ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกหลายลัทธิการเมืองการปกครอง ดังนี้
- ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หรือเผด็จการเบ็ดเสร็จ ( Communist regime ) ระบบการปกครองนี้ ผู้ให้กำเนิดก็คือ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ คาร์ล มาร์ก ( Karl Heinrich Marx ) และผู้ที่นำลัทธินี้ไปใช้ครั้งแรก ก็คือเลนิน นักปฏิวัติสังคมชาวรัสเซีย ซึ่งในความหมายแท้จริงของคำว่า คอมมิวนิสต์ ของ มาร์ก เขาหมายถึง อุดมการณ์ สร้างสังคมที่ไม่มีระบบชนชั้น ไม่มีรัฐในอนาคต ทุกคนอาศัยอยู่ บนกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และมีไม่ทรัพย์สินส่วนตัวทุกรูปแบบ
- ระบบคณาธิปไตย ( Oligarchy ) เป็นระบบการปกครองอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อำนาจทางการเมืองส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด ตกอยู่ในมือของกลุ่มคนส่วนน้อย หรือคณะบุคคล ซึ่งคำว่า Oligarchy เป็นคำมาจากภาษากรีกคือคำว่า Oligon ซึ่งหมายถึง ส่วนน้อย เล็กน้อย
- ลัทธิชาตินิยม ( Nationalism) เป็นลัทธิที่มีความเชื่อว่า ชาติคือ หน่วยพื้นฐานชีวิตทางสังคมของมวลมนุษย์ และ พวกเขาเชื่อว่าชาติมีความสำคัญกว่าหลักการทางสังคมทุกประการ ดังนั้นชาตินิยจึงเป็ทั้งคำสอนทางการเมือง และการปฏิบัติโดยรวมของขบวนการทางการเมืองและทางสังคม ในนามของชาติ
- ระบอบราชาธิปไตย ( Absolute Monarchy ) เป็นคำมาจากภาษากรีกเช่นกัน ซึ่งหมายถึง ปกครองโดยคนคนเดียว หรือคนเดียวปกครอง เป็นรูปแบบที่มี กษัตริย์ หรือ ราชา เป็นประมุขแห่งรัฐ ตลอดชีวิต และเป็นการสืบทอดอำนาจผ่านทางระบบสายเลือดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งราชามีอำนาจในการปกครองแผ่นดินและพลเมืองประเทศนั้นๆอย่างเอกฉันท์ลำพังและไม่มีระบบกฎหมายที่เป็นสากล แต่คำสั่งราชาคือกฎหมาย ไม่มีฝ่ายค้าน ราชาถือเป็นองค์อธิปัตย์ ใช้อำนาจ ปกครองคนและรัฐ โดยสิทธิ์ขาด
- ลัทธิอำนาจนิยม ( Authoritarianism ) เป็นลัทธิที่บูชาอำนาจ บุคคลิกของผู้นำ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของระบบนี้ การปกครองรูปแบบนี้มักไม่คำนึงถึง ความสมานฉันท์ในทางสังคม มุ่งแต่ครอบงำ และขยายขอบเขต อำนาจออกไปอย่างกว้างขวางให้มากที่สุด
- ระบอบฟาสซิตส์ ( Fascism ) เป็นลัทธิการปกครองที่ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศ อิตาลี โดย เบนิโต มุสโสลินี ลัทธินี้ มีความเชื่อคล้ายคลึงกันกับ ลัทธิชาตินิยม บางครั้งก็มีผู้เรียกลัทธินี้ว่าเป็นลัทธิ คลั่งชาติ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อย เช่นลัทธินี้ สอนให้คน มีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ และความเป็นมนุษย์ของตนเองที่มีอยู่สูงกว่าผู้อื่น
- ระบบอภิชนาธิปไตย ( aristocracy ) เป็นการปกครองโดยชนกลุ่มน้อย ที่เป็นชนชั้นสูงในสังคม หรือพวกขุนนาง ที่มีความเชื่อว่า กลุ่มตนเอง เป็นผู้มี คุณธรรมสูงส่ง สติปัญญาดีเลิศกว่าผู้อื่น มีชาติกำเนิดดีกว่าผู้อื่นเป็นปราชญ์แห่งการปกครอง โดยสรุปคือเป็นการปกครองโดยอภิสิทธิ์ชน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย แต่มีฐานะทางสังคมสูงกว่าบุคคลอื่น
- ระบบอนาธิปไตย ( Anarchy ) เป็นลัทธิความเชื่อทางการเมืองที่ ปฏิเสธการมีรัฐบาล หรือ รัฐ และถือว่า รัฐ และรัฐบาลเป็นสิ่งที่อันตราย น่ากลัวสำหรับพลเมือง และไม่เห็นความจำเป็น ที่จะต้องมีสภาพ การบังคับ หรือ ไร้รัฐนั่นเอง กล่าวสรุปก็คือ อนาธิปไตยคือ พวกที่เชื่อว่า การปกครอง หรือการบังคับทุกรูปแบบ คือสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์ และควรถูกกำจัดออกจากสังคมโลกให้หมดสิ้น
ระบอบประชาธิปไตย ( Democracy )
ในระบอบประชาธิปไตยนี้ ก็มีรายละเอียดปลีกย่อย และแบ่งย่อยออกเป็นหลายความเชื่อด้วยกันดังนี้
- สาธารณะรัฐนิยม ( Republicanism ) เป็นความเชื่อเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองรัฐ หรือประเทศ ในรูปแบบสาธารณะรัฐ หรือ รัฐมหาชน อุดมการกว้างๆของสายนี้ก็คือสร้างการเมืองที่คุ้มครองเสรีภาพประชาชน ควบรวมเข้ากับหลักนิติธรรม ( Rule of Law ) โยรัฐบาลจะไม่ปฏิเสธการรับรู้ของประชาชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ระบบคุณธรรมของพลเมืองในชาติ และต่อต้านการทุจริต
- เสรีนิยม ( Liberalism ) เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่เชื่อว่า เสรีภาพ เป็นสิ่งที่มีค่าสำคัญที่สุดทางการเมือง โดยลัทธินี้มีรากเหง้าความเชื่อมาจากยุค สว่างทางปัญญาตะวันตก ( Western Enlightenment ) โดยรวมแล้ว เสรีนิยม เน้นในเรื่องของสิทธิ ของปัจเจกชน และมุ่งแสวงหาเสรีภาพทางความคิด และจำกัดขอบเขตอำนาจแห่งรัฐให้กระทบสิทธิพลเมืองให้น้อยที่สุด
อีกลัทธิหนึ่งซึ่งอุดมการณ์หลักไม่เกี่ยวข้องหรือประสงค์จะเข้าไปใช้อำนาจรัฐในทางปกครอง แต่ก็นับว่ามีความสำคัญต่อรูปแบบการปกครองทุกรูปแบบคือ
- ลัทธิสันตินิยม ( Pacifism ) เป็นอุดมการณ์ที่คัดค้าน การใช้ความรุนแรง และสงคราม มุ่งแสวงหาสันติ และหาทางออกโดยการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี สันตินิยมนี้ยังแบ่งได้เป็นอีก 2 กลุ่มคือ
3.1สันตินิยมเชิงหลักการ ( Deontological ) พวกนี้มีหลักการความเชื่อคือ สงคราม ความรุนแรง การสังหาร โดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือการบีบบังคับข่มขู่ ล้วนเป็นความผิดต่อหลักศีลธรรมทั้งสิ้น
3.2 สันติวิธีปฏิบัตินิยม ( Consequential ) เป็นพวกสันติวิธีที่ไม่ถือหลักการเคร่งครัด แต่จะมุ่งพิจารณาว่า จะระงับข้อพิพาทอย่างไรที่ ดีกว่ามีสงคราม หรืออาจพิจารณาหาประโยชน์ หรือแง่ดีของสงคราม โดยเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่าย
ในปัจจุบันนี้รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบ่งแยกออกได้เป็น 3 แบบแผนดังนี้
- ประชาธิปไตยแบบแบ่งแยกอำนาจ หรือแบบประธานาธิบดี โดยรูปแบบนี้มีอเมริกาเป็นต้นแบบการปกครอง โดยมีหลักการคือ การแบ่งแยกอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง รูปแบบนี้ประธานาธิบดีจะสวมหมวก 2 ใบ หรือมี 2 สถานะ คือ ประมุขแห่งรัฐ ( Head of State )และประมุขฝ่ายบริหาร ( Head of government ) โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ( อเมริกา ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ) ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภานิติบัญัติได้ และฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ไม่สามรถตรวจสอบประธานาธิบดีได้เช่นกัน ยกเว้นเสียแต่ กรณีที่ประธานาธิบดีกระทำความผิดขัดศีลธรรมขั้นร้ายแรง ก็จะมีการนำไปสู่กระบวนการถอดถอนฟ้องร้อง ( Impeachment ) รูปแบบนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรี
- ประชาธิปไตยรูปแบบรัฐสภา รูปแบบนี้อังกฤษเป็นแม่แบบ หลักการคือ เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ( Check and Balance ) ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยรูปแบบนี้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและไปจากสภา และมีอำนาจในการยุบสภานิติบัญญัติได้ และฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้เช่นเดียวกัน ส่วนประมุขแห่งรัฐของรูปแบบการปกครองนี้ จะเป็นประธานาธิบดี หรือ กษัตริย์ก็ได้ แต่ประมุขแห่งรัฐไม่มีหน้าที่ทางการบริหารโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างประเทศที่ใช้รูปแบบนี้และมีกษัตริย์เป็นประมุขคือ อังกฤษ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไทย เป็นต้น ส่วนประเทศที่ใช้รูปแบบนี้และมีประธานาธิบดีเป็นประมุข อาทิ อินเดีย สิงคโปร์ ฯลฯ
- ประชาธิปไตยรูปแบบกึ่งประธานาธิบดี กึ่งรัฐสภา ( Semi-parliamentary semi-presidential) รูปแบบนี้ฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ประธานาธิบดีมี 2 สถานะ คือ ประมุขแห่งรัฐ และประมุขฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจยุบสภาได้ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดี ตามมอบหมาย ซึ่งบทบาทส่วนใหญ่จะเป็นของประธานาธิบดี รูปแบบนี้เป็นการสังเคราะห์เอาข้อดี ของรูปแบบประธานาธิบดีแยกอำนาจ และรัฐสภามารวมกัน หรือบางครั้งอาจเรียกว่ารูปแบบผสมก็ได้
- นอกจากนี้ยังมีการแตกตัวจากลัทธิหลักเป็นลัทธิย่อยอีกหลายลัทธิ อาทิ สังคมนิยม สมภาพนิยม วัตถุนิยมวิภาษวิธี ลัทธิปฏิรูป ลัทธิบอลเชวิค ลัทธิมาร์ก ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม ลัทธิทุนนิยม ลัทธิปฏิฐานนิยม ลัทธิจักรพรรดิ์นิยม ลัทธิจักรวรรดิ์นิยม ลัทธิสหการนิยม เป็นต้น
กังวาล ทองเนตร รัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
คองผดุงกรุงเกษม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น