หน้าเว็บ

กลับหน้าแรกล่าสุด

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

คำสั่งทางปกครองคืออะไร


คำสั่งทางปกครองคืออะไร


ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาตรา 5 (1)

  • คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า

(1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวร หรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ


ดังนั้นผู้ที่จะออกคำสั่งทางปกครองได้ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่เท่านั้น 

  • เจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.นี้หมายถึงบุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบหรือให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตามวรรคนี้ จึงมีอยู่ 2กรณีคือ
  1. บุคคลและคณะบุคคล (หมายถึงคนเดียวหรือเป็นคณะก็ได้ )
  2. นิติบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลสมมุติตามกฎหมาย
  • การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 แนวทางด้วยกันคือ
  1. ใช้อำนาจโดยตรงตามที่ตนเองมีอยู่ตามกฎหมาย เช่นการรับรอง การอนุมัติ การอนุญาต การสั่งการการรับจดทะเบียน การวินิจฉัยอุทธรณ์ ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายนี้  แต่ก็มิได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนจะมีอำนาจเท่ากันและใช้คำสั่งทางปกครองได้ทุกคนเท่ากัน
  2. ใช้อำนาจโดยการได้รับมอบอำนาจ หมายถึง โดยตัวเองแล้วไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งทางปกครองนั้นเลย แต่ได้รับมอบอำนาจจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจมอบหมายให้ใช้อำนาจ เช่น สถานที่ตรวจสภาพรถเอกชน ซึ่งไม่มีอำนาจโดยตนเองแต่ใช้อำนาจทางปกครองโดยได้รับมอบ หรือสภาทนายความ แพทยสภา เป็นต้น
  • และในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้มีคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน โดยให้คณะกรรมการนี้มีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 11 มีทั้งสิ้น 6 วงเล็บ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการตาม พ.ร.บ.นี้ รวมถึงเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจงตามที่บุคคลร้องขอได้รวมถึงเสนอแนะในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามกฎหมายนี้ด้วย

  • ดังนั้นเมื่อมีข้อสงสัยสำหรับเจ้าหน้าที่ว่าตนเองมีขอบเขตอำนาจมากน้อยเพียงใดหรือไม่ก็สามารถยื่นขอคำปรึกษากับคณะกรรมการชุดนี้ได้ ตามมาตรา 11 (2 )

ในส่วนของคณะกรรมการก็สามารถเรียกบุคคลทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ โดยให้คณะกรรมการมีหนังสือเรียกมาชี้แจงได้ ตามมาตรา 11 (3)

นอกจากนี้การทำคำสั่งทางปกครองกฎหมายยังตีกรอบให้แคบเข้ามาอีกตามมาตรา 12
  • มาตรา 12 คำสั่งทางปกครองจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจในเรื่องนั้น
หมายความว่าการทำคำสั่งทางปกครอง ถึงแม้ว่าเราจะมีอำนาจ แต่ถ้าไม่มีอำนาจในเรื่องนั้นๆ เราก็ไม่สามารถทำคำสั่งทางปกครองได้ ตาม มาตรา 12 นี้

และในมาตรา 13แห่ง พ.ร.บ.นี้ยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่จะทำการพิจารณาทางปกครองต้องมีหรือไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 13 นี้

  • มาตรา 13เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะกระทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
(1)   เป็นคู่กรณีเอง
(2 ) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(3)  เป็นญาติของคู่กรณีคือเป็นบุพการีหรือเป็นผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้นหรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(4 )  เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์ หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(5 )  เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(6 )  กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

  • และข้อห้ามอื่นสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะพิจารณาทางปกครอง กำหนดไว้ใน มาตรา 16
ข้อยกเว้นตามมาตรา 13-16

*** แต่คุณสมบัติห้ามตามมาตรา 13นี้ ก็มีข้อยกเว้น หมายถึงถ้าเป็นบุคคลตามเงื่อนไขห้ามตาม 6 วงเล็บนี้ ก็สามารถพิจารณาทางปกครองได้ ถ้าเข้าตามเงื่อนไขตามที่กฎหมายยกเว้นไว้โดยกฎหมายจะกำหนดข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 18
  • มาตรา 18 บทบัญญัติในมาตรา 13ถึงมาตรา 16ไม่ให้นำมาบังคับใช้กับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ หรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้
และในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.นี้ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะพิจารณาทางปกครองได้ ตามความในมาตรา 22 นี้

  • ส่วนคู่กรณี ระบุไว้ในมาตรา 21 และคู่กรณีสามารถแต่งตั้งให้บุคคลกระทำการแทนตนเองได้ ตามมาตรา 23
ในการพิจารณา

เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิ แจ้งกระบวนการพิจารณาต่างๆให้คู่กรณีทราบ ตามความในมาตรา 27ดังนี้
  • มาตรา 27 ให้เจ้าหน้าที่แจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจำเป็นแก่คู่กรณี
กรณีทำคำสั่งทางปกครองกระทบสิทธิของคู่กรณี
  •  เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริง ตามมาตรา 30 ทั้งหมด 6 วงเล็บ
รูปแบบการทำคำสั่งทางปกครอง

  • มาตรา 34 คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้

การสิ้นอายุของคำสั่งทางปกครอง

  1. สิ้นอายุตามเงื่อนไขเวลาตามที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ในคำสั่งนั้น
  2. ถูกเพิกถอนคำสั่ง อาจโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือ คำสั่งศาลปกครอง ตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ.2542
  • สรุปการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น 
  • ส่วนคู่กรณีสามารถใช้สิทธิ ตามช่องทางที่กฎหมายเปิดไว้ให้ได้ และกรณีอุทธรณ์ให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง ภายใน 15 วั นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
กรณีที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองมีหลักเกณฑ์พิจารณาดังนี้
  1. เป็นผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 42 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542
  2. ใช้สิทธิตามกฎหมาย จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542
  3. ใช้สิทธิตามมาตรา 9 (1 ) หรือ (1)-(6)
  4. พิจารณาว่า คู่กรณีหรือคู่พิพาทเข้าตามกฎเกณฑ์ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองหรือไม่
  5. ร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือกำหนดเงื่อนไข เพิกถอนกฎ คำสั่ง หรือื่นๆตาม มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง
คู่กรณีที่เข้าข่ายเป็นคดีพิพาททางปกครองมี 5 คู่ดังนี้
  1. หน่วยงานทางปกครอง พิพาทกับ หน่วยงานทางปกครอง
  2. หน่วยงานทางปกครอง  พิพาทกับ เจ้าหน้าที่
  3. หน่วยงานทางปกครอง  พิพาทกับ  เอกชน
  4. เจ้าหน้าที่  พิพาทกับ เจ้าหน้าที่
  5. เจ้าหน้าที่ พิพาทกับ  เอกชน
หมายเหตุ
  • คดีที่จัดว่าเป็นคดีทางปกครอง คู่พิพาทต้องเข้าตามหลัก 5 กรณีนี้เท่านั้น จะไม่มี เอกชน พิพาทกับเอกชน ซึ่งไม่เข้าข่ายคดีทางปกครองตาม พ.ร.บ.นี้

กังวาล  ทองเนตร ภาควิชาการปกครองคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น