หน้าเว็บ

กลับหน้าแรกล่าสุด

วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วรรณคดีไทยสมัยอยุธยา



วรรณคดีคือ หนังสือที่เรียบเรียงด้วยภาษาที่สละสลวย ถ้อยคำไพเราะ เป็นภาพศิลปะ เป็นภาพมายา ภาพสมมุติอันเกิดจากจินตนาการ ให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ให้คุณค่าทางอารมณ์ ให้คุณค่าทางจินตนาการ ให้คุณค่าทางสติปัญญา ให้คุณค่าทางวัฒนธรรม ให้คุณค่าทางศีลธรรม และเป็นผลิตผลทางภาษา เกิดความจรรโลงใจทั้งธรรมชาติและสังคม

งานเขียนทุกเรื่องทุกประเภท เราเรียกว่าวรรณกรรม แต่มีเพียงวรรณกรรมบางเรื่องเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องและยกให้เป็น วรรณคดี

วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น

   1. ลิลิตโองการแช่งน้ำ 

ผู้แต่งไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าจะเป็นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1
 ( พระเจ้าอู่ทอง )

ลักษณะของคำประพันธ์ 

แต่งเป็นลิลิต ( โคลงสลับร่าย )  โคลงที่แต่งจะเป็นโคลงห้ามณฑกคดี  ส่วนร่าย จะเป็นร่ายดั้นโบราณ

ลักษณะของเรื่่อง

เป็นการนำเอาพิธีไสยศาสตร์ของขอมมาใช้ คือพิธีสาบานตน โดยดื่มน้ำที่แช่งด้วยมนต์ เรียกแบบสามัญว่าพิธีถือน้ำ ราชการเรียกว่า ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา

เนื้อเรื่องโดยย่อ

เป็นการกลฃ่าวอัญเชิญเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ ไฟบรรลัยกัลป์ พระพรหม กษัตริย์ ตลอดจนคำสาปแช่งผู้ที่คิดคดทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน

ที่มาของเรื่องนี้  ต้นฉบับจะเป็นภาษาขอม

ตัวอย่างคำประพันธ์

โอมสิทธิสรวงศรีแล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่นแกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน ปิ่นเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข จักรคธาธรณี ภีรอวตาร อสูรแลงลาญ ทักขาทักษูณาจรฌาย ฯ

     2. มหาชาติคำหลวง 

ผู้แต่ง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้นักปราชญ์ช่วยกันแต่ง

ลักษณะของคำประพันธ์ เป็น โคลง ร่าย กาพย์ ฉันท์ และคาถาภาษาบาลี

ลักษณะของเรื่อง

เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลธรรม ใช้คำประพันธ์หลายประเภทดังที่กล่าวมาแล้วแต่ข้างต้น ใช้สำหรับสวดในวันสำคัญทางศาสนา

เนื้อเรื่องย่อ

แบ่งออกเป็น 13 กัณฑ์ดังนี้

  1. กัณฑ์ทศพร
  2. กัณฑ์หิมพานต์
  3. กัณฑ์ทาน
  4. กัณฑ์วนปเวสน์
  5. กัณฑ์ชูชก
  6. กัณฑ์จุลพน
  7. กัณฑ์มหาพน
  8. กัณฑ์กุมาร
  9. กัณฑ์มัทรี
  10. กัณฑ์สักกบรรพ
  11. กัณฑ์มหาราช
  12. กัณฑ์ฉกษัตริย์
  13. กัณฑ์นครกัณฑ์

ภาพประกอบทั้ง 13 กัณฑ์เทศน์ตามลำดับ 

มหาชาติคำหลวง เดิมแต่งเป็นภาษา มคธ และได้แปลเป็นไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ต้นฉบับเดิมสูญหายไป พระบรมไตรโลกนาถจึงได้เรียกชุมนุมนักปราชญ์ของกรุงศรี แปลและแต่งเมื่อ จุลศักราช 844

ตัวอย่างคำประพันธ์

สัตตสดกมหาทาน
ช้างแต่งม้าแต่งเรื้อง  รถรดับ แต่งแฮ
นางแลนางกระษัตรสัพ  แต่งไว้
วววถนนทาษสาวกับ  ทาษบ่าว เล่ามา
เจ็ดเจ็ดร้อยธให้   ชื่อให้สับดสดกอนนเลอศแล ฯ 

( ผมไม่ได้พิมพ์ผิด แต่คัดมาตามต้นฉบับ )

        3. ลิลิตยวนพ่าย 

ไม่ปรากฎนามผู้แต่ง แต่สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 

ลักษณะคำประพันธ์เป็นแบบลิลิตดั้น คือ ร่ายดั้น สลับโคลงดั้นบาทกุญชร

เนื้อเรื่อง เป็นการยอเกียรติ พระบรมไตรโลกนาถ ด้วยร่ายดั้น 2 บท และโคลงดั้นบาทกุญชร 365 บท

เรื่องย่อ 

เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญพระพุทธเจ้า ตามด้วยพระบรมไตรโลกนาถ การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่ ได้เมืองเชียงชื่น และสุดท้ายกล่าวสรรเสริญพระบรมไตรโลกนาถ

ที่มาของเรื่อง เชื่อกันว่าเกิดจากอิทธิพลเรื่องชาตินิยม ในการที่กรุงศรีมีชัยชนะต่อเชียงใหม่ ใน  พ.ศ.2017 ตีได้เมืองเชียงชื่น เป็นเหตุให้กวีผู้หนึ่งแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา

รูปแบบคำประพันธ์เป็นคำโบราณสลับกับคำภาษาสันสกฤต

ตัวอย่างคำประพันธ์

ข้าไทธิเบศรผู้            ใดใด  ก็ดี
ตายเพื่อภักดีโดย       ชื่อพร้อม
คือคนอยู่เปนใน          อิรโลกย
นรโลกยนางฟ้าล้อม     เลอศอิทร ฯ        

สมัยอยุธยาตอนกลาง ( ยุคทองวรรณคดี )

      1. จินดามณี 

ผู้แต่ง พระโหราธิบดี

ลักษณะคำประพันธ์ เป็นร้อยแก้ว สลับด้วยคำประพันธ์ ร้อยกรองประเภทต่างๆ

ลักษณะเรื่อง  เป็นแบบเรียนสอนคนไทย เพื่อไม่ให้ฝักใฝ่พวกฝรั่ง มีการใช้อักษรหมู่ 3 หมู่ มีการ ผันอักษร การสะกดคำ รวมถึง วิธีการแต่งคำประพันธ์ประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์และกลอน

ที่มาของเรื่อง  เชื่อว่าเกิดจากการที่ฝรั่งได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และเกรงว่าคนไทยจะไปนิยมเข้ารีตด้วย สมเด็จพระนารายณ์จึงให้แต่ง จินดามณีขึ้นเพื่อให้ใช้เป็นแบบเรียนของตนเอง
**หมายเหตุ จินดามณีเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย ใช้คำประพันธ์หลายแบบ เช่นร่าย โคลง ฉันท์ กาพย์ เป็นต้น

        2. สมุทรโฆษคำฉันท์ 

ผู้แต่งมี 3 ท่านคือ พระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์ และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ลักษณะคำประพันธ์ แต่งด้วย กาพย์ และ ฉันท์ จบด้วยโคลง 4 บท
ลักษณะเนื้อเรื่อง เป็นเรื่องเป็นเรื่องชาดกในพุทธศาสนาที่ศาสดาได้เสวยชาติเป็นพระสมุทรโฆษ

เรื่องย่อ 

พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระสมุทรโฆษ เป็นโอรสของท้าววินททัต วันหนึ่งพระสมุทรโฆษเสด็จออกคล้องช้าง และพักอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เทพารักษ์ได้อุ้มไปสมสู่กับนางพินทุมดี แห่งรมยนคร แล้วก็พากลับมาไว้ที่เดิม ทั้งคู่ก็ทรงคร่ำครวญหากัน จนในที่สุดพระสมุทรโฆษได้เข้าประลองศร จนมีชัย  ได้สยุมพรกับนางพิทุมดี ภายหลังได้พระขรรค์วิเศษจากวิทยาธร ตนหนึ่ง ซึ่งพระองค์เคยช่วยเหลือไว้จากการถูกทำร้าย พระสมุทรโฆษได้พานางพินทุมดีเหาะไปเที่ยวที่ป่าหิมพานต์ แต่ถูกวิทยาธรอีกคนแอบลักขโมยพระขรรค์ไป จึงต้องพลัดพรากจากกันต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากนางมณีเมฆขลา ทั้งสองจึงได้พบกันและเสด็จกลับบ้านเมืองอย่าง แฮปปี้เอนดิ้ง

ที่มาของเรื่อง 

เป็นการแต่งโดยนำโคลงเรื่องมาจากสมุทรโฆษชาดกซึ่งรวมอยู่ใน ปัญญาสชาดก ( นิทาน 50 เรื่อง ) แต่บางตอนไม่เหมือนสมุทรโฆษชาดก

ตัวอย่างคำประพันธ์

อ้าอรอย่าอ่อนระอิด  ระอาคิดกมลหมาง
บุญมีมิวายวาง          ชีวาวอดคงรอดคืน
อ้าพระแม้บาปเบียฬ   คือเวรเวียนฆฝ่าฝืน
ชีวาตมจักยืน              อยู่ยืดยั้งบ่หยั่งยล

      3. กำสรวลศรีปราชญ์ 

ผู้แต่ง ศรีปราชญ์
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นโคลงดั้นบาทกุญชร บทแรกเป็นร่ายดั้น
ลักษณะเรื่อง เป็นการพรรณนาถึงความรู้สึกที่มีต่อคนรักในการที่จะต้องพลัดพรากจากกันโดยเปรียบเทียบชื่อตำบลที่ผ่านกับความอาลัยที่มีต่อนาง

เรื่องย่อ 

ตอนต้นเป็นการสดุดีกรุงศรี ต่อจากนั้นกล่าวถึงการที่ต้องจากนางแสดงความเป็นห่วงว่าไม่รู้จะฝากใครดีเมื่อเดินผ่านตำบลใดก็รำพันเปรียบเทียบชื่อตำบลกับคนรัก นอกจากนี้ยังมีการนำชื่อบุคคลในวรรณคดีมาเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเองด้วย เช่นพระราม นางสีดี พระสมุทรโฆษและนางพิทุมดี เป็นต้น

ที่มาของเรื่อง เนื่องจากศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชจึงแต่งเรื่องนี้ขึ้นเพื่อแสดงความรู้สึกและบันทึกสิ่งต่างๆที่เส้นทางที่ผ่านพบ กำสรวลศรีปราชญ์ถีอว่าเป็นงานชิ้นเอกของศรีปราชญ์

ตัวอย่างคำประพันธ์

โฉมแม่จากฟากฟ้า               เกรงอินทร  หยอกนา
อินทรท่านเทอดโฉมเอา       สู่ฟ้า
โฉมแม่กกฝากดิน                   ดินท่านแล้วแฮ
ดินฤาขดดเจ้าหล้า                  สูสสิองสิ                

 ( ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ ) ตรงสระอิ สิ ที่วรรคท้าย จะเป็นเหมือนเลข ศูนย์ อยู่บน ส.เสือ เป็นบาลีสันสกฤต และจะมีคำอย่างนี้ซ้ำอยู่หลายที่

           4. ทวาทศมาส 

ผู้แต่ง พระเยาวราช  ขุนพรหมมนตรี  ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ
ลักษณะคำประพันธ์โคลงดั้นวิวิธมาลี

ตัวอย่างคำประพันธ์

อักนิษเลื่องโลกล้ำ         โษฬส
บัณฑุกัมพลอิทร              อาสนแก้ว
เมรุทอง  ร  รองทศ            ศาภาคย์
ฤาอาจทรงทุกข์แผ้ว          ที่ตรอม

สมัยอยุธยาตอนปลาย

       1.พระมาลัยคำหลวง

ผู้แต่ง  พระเจ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะคำประพันธ์ เป็นร่ายสุภาพ มีคาถาภาษาบาลีแทรกอยู่ด้วย ส่วนตอนท้ายเป็นโคลงสี่สุภาพ

เนื้อเรื่อง

 เป็นเรื่องเทศนา นรก สวรรค์ ซึ่งพระมาลัย  เทศน์โปรดมนุษย์
เริ่มด้วยนมัสการพระรัตนตรัย และกล่าวถึงพระมาลัย ธุดงค์โปรดสัตว์แล้วขึ้นไปนมัสการพระธาตุจุฬามณีที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบพระศรีอาริย์ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นศาสดาในอนาคตเมื่อศาสนาของสมณโคดมสิ้นสุดลง 5,000 ปี แล้วจะเข้าสู่ยุคพระศรีอาริย์บ้านเมืองจะสงบสุขปราศจากการฆ่าฟัน

ตัวอย่าง

ส่วนว่าพรรคสตรี บ่เสพสามีเป็นสอง ฝ่ายบุรุษครองหญิงเดียว ห่อนโทนเที่ยวแสวงหา เพิ่มภรรยาสองคน ห่อนล่วงกลกามอื่น ลอบชมชื่นเมียชาย เมียเดียวตายจนนาศ รังพิศวาส เสน่หังอัญบัญญังทั้งสอง ครอบครองกันทุกเมื่อแล

         2.นันโทปนันทสูตร

ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะคำประพัน์ เป็นร่ายแทรกภาษาบาลี ตอนท้ายเป็นโคลงสี่สุภาพ

เรื่องย่อ

พญานาคนันโทปนันท์ เกิดจากทิฐิมานะอหังการ กล่าวคำดูหมิ่นพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงให้โมคคัลลาน์สั่งสอนโดยการแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จนนันโทปนันท์ สิ้นฤทธิ์ ยอมแพ้และยอมนมัสการพุทธองค์
ที่มาของเรื่อง มาจากเรื่องนันโทปสูตรนันทสูตรในคัมภีร์ ฑีฆนิกายสิลขันธ์ ซึ่งพระมหาพุทธสิริเถระเรียบเรียงไว้เป็นภาษาบาลี

ตัวอย่าง       

แม้ในวันกาลนั้น อันว่านนโทปนนทนาคราชก็กล่าวคำวิปลาศนานา กอปรด้วยมฤจฉาทฤษฎี เป็นวจีลามกยิ่งนัก กมีลักษณะดังนี้ อันว่าพวกชีสรมณ  อันโกนสีสะเหล่านี้ไส้ ย่อมไปสู่เทวา อันอยู่ดาวะดึงษาสถาน กมาเหนือพิมานแห่งเรา ฯ

       3. กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท 

ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
ลักษณะคำประพันธ์ ใช้กาพย์ยานีย์ 11 สลับ โคลงสี่สุภาพ เป็นทำนองนิราศ

เนื้อเรื่อง 

กล่าวถึงความงามของนางที่ต้องจากกันโดยรำพึงเป็น ยาม วัน เดือน ฤดู และปี
ตัวอย่างคำประพันธ์
 โมงเช้าแล้วเจ้าพี่  เจ้าถ้วนถี่ดีการเรือน
หญิงใดไม่มีเหมือน    ใช้สอยดีพี่เคยชม

         4.  ปุณโณวาทคำฉันท์

ผู้แต่ง พระมหานาค วัดท่าทราย
ลักษณะคำประพันธ์ใช้ ฉันท์และกาพย์
ลักษณะเรื่องเป็นการพรรณนาความรู้สึกและสิ่งที่ได้พบเห็นในโอกาสที่ได้ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี

ที่มาของเรื่อง นำมาจากปุณโณวาทสูตร

ตัวอย่างคำประพันธ์

ใบโพธิ์สุวรรณห้อย      รยาบย้อยบรุงรัง
ลมพัดกระดึงดัง           เสนาะคัพทอลเวง
เสียงดุจเสียงคีต           อันดึงดีดประโคมเพลง
เพียงเทพบรรเลง          รเรื่อยจับระบำถวาย

          5. กลบทสิริวิบุลกิติ์

ผู้แต่ง  หลวงศรีปรีชา ( เซ่ง )
ลักษณะคำประพันธ์เป็น กลอนกลบท 86 ชนิด
เนื้อเรื่อง พระโพธิสัตว์มาปฏิสนธิในครรภ์พระนางศิริมดี มเหสีพระเจ้ายศกิติ แห่งนครจัมบาก

ตัวอย่างคำประพันธ์

ข้าชื่อเซ่งเขียนชื่อซ้องจองนามหมาย    ล้ำไว้ชื่อลือว่าชายไว้ศักดิ์ศรี
พระบัณฑูรพูนบันเทิงพระทัยทวี               ตั้งยศแสงแต่งยศศรีหลวงปรีชา

กังวาล  ทองเนตร




1 ความคิดเห็น:

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น