หน้าเว็บ

กลับหน้าแรกล่าสุด

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประวัติและผลงาน สุนทรภู่

สุนทรภู่


  • สุนทรภู่ เกิดในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เมื่อวันจันทร์ เดือน แปด ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 8 นาฬิกา หรือตรงกับ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329


  • สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจาก ยูเนสโก  (Unesco ) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก


  • ตามประวัติไม่ชัดแจ้งว่าบิดาของสุนทรภู่ ชื่ออะไร ทราบแต่ว่าเป็นคนบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
  • แต่ในหนังสือ สยามประเภทสุนทรโรวาทพิเศษ ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เล่ม 5 ระบุว่าบิดาของสุนทรภู่ชื่อ ขุนศรีสังหาร ( พลับ ) ส่วนมารดาไม่ทราบชื่อใด แต่เป็นคนที่อื่นไม่ใช่คนเมืองแกลง
  • ล้อม เพ็งแก้วเสนอไว้เมื่อปี พ.ศ.2529ว่า บรรพชนของสุนทรภู่เป็น พราหมณ์ เมืองเพชรบุรี บิดา - มารดาเลิกร้างกัน บิดาไปอยู่เมืองแกลง ส่วนมารดาไปมีสามีใหม่มีลูกหญิง 2 คน ชื่อ ฉิม กับ นิ่ม


  • มารดาของสุนทรภู่ได้เป็นนางนมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง คือพระองค์เจ้า จงกล สุนทรภู่จึงได้อยู่ที่วังกับมารดาและได้ถวายตัวเป็นข้าในวังตั้งแต่เด็ก

การศึกษาของสุนทรภู่


  • มารดาของสุนทรภู่ได้นำไปฝากเรียนที่สำนักชีปะขาว ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนนามใหม่จากสำนักชีปะขาวเป็น วัดศรีสุดาราม ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย เขตบางขุนนนท์ กรุงเทพฯ ปัจจุบัน
  • สุนทรภู่ได้ระบุประวัติตัวเองไว้ในนิราศสุพรรณ ตอนหนึ่งว่า

 วัดปะขาวคราวรุ่นรู้     เรียนเขียน
ทำสูตรสอนเสมียน      สมุดน้อย
เดินระวางระวังเวียน     หว่างวัดปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย  สวาทห้องกลางสวน

  • จากโคลงสี่สุภาพบทนี้ แสดงให้เห็นว่า สุนทรภู่ได้ทำงานมีหน้าที่เป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน
  • ชีวิตวัยหนุ่มสุนทรภู่แอบลักลอบได้เสีย กับหญิงสาวชื่อ จัน จึงถูกจองจำทั้งชายหญิง ต่อมากรมวังหลังคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร เสด็จทิวงคต สุนทรภูจึงพ้นโทษ
  • เมื่อพ้นโทษอายุครบบวชพอดี และเพิ่งพ้นโทษมาใหม่ๆจึงคิดอยากบวช แต่ก็อยากไปบวชกับบิดา จึงคิดจะไปหาบิดาที่เมืองแกลง
  • จังหวะพอดีที่ได้รับมอบหมายงานบางอย่างจากพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศรให้ไปทำธุระที่บางปลาสร้อย ( จังหวัดชลบุรีปัจจุบัน ) เมื่อทุกอย่างลงตัวสุนทรภู่จึงถือโอกาสนี้ไปตามหาบิดาเสียในคราวเดียวกัน
  • การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ไปพร้อมศิษย์ 2 คน ชื่อ พุ่ม กับน้อย ที่มาหัดแต่งหนังสืออยู่กับสุนทรภู่ และได้นาย แสงเป็นชาย ขี้ยาชาวระยอง และกำลังหาทางกลับบ้านอยู่พอดีร่วมทางไปด้วย
  • การเดินทางสุนทรภู่เดินทางโดยเรือประทุนแจวเมื่อ เดือน 7 ปีเถาะ พ.ศ.2350 ไปทางคลองสำโรง ออกปากน้ำบางปะกงและขึ้นบกที่บางปลาสร้อย และฝากเรือไว้ที่บ้านขุนจ่าเมือง แล้วเดินทางด้วยเท้าจนถึงระยอง
  • การเดินทางไประยองครั้งนี้สุนทรภู่ได้ประพันธ์ นิราศ เมืองแกลงขึ้น พอไปถึงระยองนายแสงชายขี้ยาก็แอบหลบหนีไปจากคณะกลับบ้านตนโดยสุนทรภู่กล่าวไว้ในนิราศเมืองแกลงตอนหนึ่งว่า

พอสิ้นดงตรงบากออกปากช่อง                   ถึงระยองเหย้าเรือนดูไสว
แวะเข้าย่านบ้านเก่าค่อยเบาใจ                   เขาจุดใต้ต้อนรับให้หลับนอน
ฝ่ายนายแสงถึงตำแหน่งสำนักน้อง            เขายิ้มย่องชมหลานคลานสลอน ฯ
...นายแสงหนีลี้หลบไม่พบเห็น                   โอ้แสนเข็ญคิดน่าน้ำตาไหล
น้อยหรือเพื่อน เหมือนจะร่วมชีวาวาย          มาสูญใจจำจากเมื่อยากเย็นฯ


  • เมื่อเขาได้พบกับบิดาเขาบรรยายไว้ว่า

ถึงหย่อมย่านบ้านกร่ำพอค่ำพลบ              ประสบพบเผ่าพงพวกวงศา
ขึ้นกระฎีที่สถิตท่านบิดา                           กลืนน้ำตาก็ไม่ฟังเฝ้าพรั่งพราย
ศิโรราบกราบเท้าให้เปล่าจิต                    รำคาญคิดอาลัยมิใคร่หาย
ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพราย             จึงแยกย้ายบิตุราชญาติกา
มาพบพ่อท้อใจด้วยไกลแม่                       ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
ชนนีอยู่ศรีอยุธยา                                       บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร ฯ


  • จากบทกลอนที่ว่าขึ้นกระฎีที่สถิตท่านบิดา แสดงให้เห็นว่า บิดาของสุนทรภู่อยู่ในเพศบรรพชิตไปแล้ว และได้รับสมณศักดิ์จากพระเจ้าแผ่นดินให้เป็น ที่ฐานานุประเทศธิบดีและบวชมาแล้วถึง 20 ปี ขณะที่สุนทรภู่มีอายุจะครบบวชพอดีแสดงว่าได้บวชตั้งแต่เลิกร้างกับมารดาของสุนทรภู่ ดังบทกลอนที่ว่า

อยู่บ้านกร่ำทำบุญบิตุเรศ                               ได้เดือนเศษโศกซูบจนรูปผอม
ทุกคืนค่ำกำสรดสู้อดออม                               ประณตน้อมพุทธคุณกรุณา
ทั้งถือศิลกินเพลเหมือนเช่นบวช                      เย็นเย็นสวดศักราชศาสนา
พยายามตามกิจด้วยบิดา                                  เป็นฐานานุประเทศธิบดี
จอมกษัตริย์ทัศนาขนานนาม                            เจ้าอารามอารัญธรรมรังษี
เจริญพรตยศยิ่งมิ่งโมลี                                      กำหนดยี่ สิบวสาสถาวร ฯ


  • เดิมสุนทรภู่ตั้งใจจะมาบวชแต่ในที่สุดก็ไม่ได้บวช

ด้านชีวิตคู่สุนทรภู่มีบุตรกับ นางจันคนหนึ่งชื่อหนูพัด  ต่อมาร้างรากัน นางจันได้สามีใหม่ส่วนสุนทรภู่ก็ได้ภรรยาใหม่ชื่อ นิ่ม เป็นชาวบางกรวยมีบุตรชายด้วยกัน หนึ่งคนชื่อ ตาบไม่นานนิ่มก็ตายลง เจ้าครอกข้างในจึงรับบุตรทั้งสองของสุนทรภู่ไปเลี้ยงดูอุปการะ เจ้าครอกท่านนี้ เชื่อว่าเป็นเจ้าครอกทองอยู่
ชีวิตครอบครัวสุนทรภู่ไม่ราบรื่น ได้ภรรยาใหม่อีกหลายคนแต่ก็อยู่กันแบบไม่ยั่งยืน
ต่อมาก็ได้กับ นางม่วง มีลูกชื่อ นิล


  • ตลอดชีวิตสุนทรภู่ได้สร้างผลงานไว้หลายเรื่อง แยกเป็นประเภทตามงานประพันธ์ได้ดังนี้

ประเภทนิราศมี 9 เรื่อง

1 ). นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อ พ.ศ. 2349 ตอนพ้นโทษและออกเดินทางไปตามหาบิดาที่เมืองแกลงแต่งตอนเขามีอายุประมาณ 21 ปี

2 ). นิราศพระบาท แต่งเมื่อครั้งตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการที่พระพุทธบาทที่สระบุรีเมื่อ พ.ศ. 2350

3 ).นิราศภูเขาทอง เป็นนิราศสั้นๆ แต่งขณะที่อยู่ในเพศบรรพชิตและจำวัดอยู่ที่วัดราชบูรณะและตั้งใจจะไปไหว้เจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยา เป็นคติธรรมสอนใจ แต่งเมื่อ พ.ศ.2371

4 ).นิราศสุพรรณ  แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ ยาวถึง 462 บท มีการกล่าวว่าสุนทรภู่แต่งเป็นแต่กลอนแปด ท่านก็เลยแสดงให้เห็นว่าท่าแต่งโคลงก็ได้ในนิราศสุพรรณนี้ แต่งขณะที่บวช จำวัดอยู่ที่วัดเทพธิดาราม เล่าเรื่องราวที่ท่านและศิษย์เดินทางไปหาแร่ มาทำเป็นทองที่สุพรรณ  (ยุคนั้นมีการเล่นแร่แปรธาตู ) แต่งเมื่อ พ.ศ.2374

5 ) .นิราศเจ้าฟ้า แต่งขณะเป็นพระเช่นกัน ตอนนี้ท่านจำวัดอยู่ที่วัดพระเชตุพน ( วัดโพธฺิ์ ) จุดประสงค์คือตามหาลายแทงที่ท่านได้มาจากทางเหนือ เพื่อไปค้นหาเหล็กไหล และยาอายุวัฒนะ เดินทางไปที่ธุรกันดาร แต่ก็ไม่พบเหล็กไหล แต่งเมื่อ พ.ศ.2375

6 ).นิราศอิเหนา  แต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณที่ทรงอุปการะสุนทรภู่ เป็นบทกลอนที่ใช้สำนวนอ่อนหวาน แต่งเมื่อ พ.ศ. 2376

7 ).รำพันพิลาป แต่งเมื่อ พ.ศ. 2385วันจันทร์ เดือน 8 ปีขาล หลังจากที่ท่านได้มาอยู่วัด เทพธิดารามได้ 3 ปี เป็นการอำลา เพศบรรพชิตของท่าน ขณะนี้ท่านมีอายุ 56 ปี

8 ) .นิราศพระประธม แต่งเมื่อท่านอยู่ในอุปการะของกรมหลวงอิศเรศรังสรรค์ อยู่ที่วังเดิม และท่านได้ร่วมทางเสด็จไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ โดยมีลูกชาย คือ ตาบ กับ นิลไปด้วย กลอนเรื่องนี่สำนวนเป็นผู้ใหญ่มองโลกกว้าง เห็นสัจธรรม แต่งเมื่อ พ.ศ.2385

9 ). นิราศเมืองเพชร แต่งเมื่อ พ.ศ.2392 แต่งตอนท่านไปธุระให้กับกรมหลวง นิราศเรื่องนี้มีความยาวที่สุดในบรรดางานประพันธ์ประเภทนิราศของท่าน คือมีความยาว 498 บท และเป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของสุนทรภู่ เนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องชีวิตความหลังของท่านเองและพาบุตรไปเยี่ยมเคารพผู้ที่คุ้นเคย


ประเภทนิทานมี 5 เรื่องได้แก่

1 ).เรื่องโคบุตร เป็นวรรณกรรมเรื่องแรกของสุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ตอนถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์

2 ) เรื่องพระอภัยมณี ความยาว 94 เล่มสมุดไทยใช้เวลาแต่งยาวนาน และเป็นนิทานคำกลอนเรื่องยาว เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของท่าน

3 ).เรื่องพระไชยสุริยา แต่งเป็นนิทานคำกลอน โดยใช้ กาพย์ 3 ชนิด คือ กาพย์ ฉบัง 16 กาพย์ยานี 11 และกาพย์สุรางคนางค์  28 จุดประสงค์เพื่อเป็นแบบฝึกอ่าน ตั้งแต่แม่ ก.กา จนถึงแม่ ก.เกย

4 ). เรื่องลักษณวงศ์  แต่งถวายกรมหมื่น อัปสรสุดาเทพ แต่ท่านแต่งได้เพียง 9 เล่มสมุดไทย ก็เลิกแต่ง และมีผู้แต่งต่อเป็นนิทานจักรๆวงศ์ๆ

5 ).เรื่องสิงหไตรภพ แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่งได้ 15 เล่มสมุดไทย ก็หยุดเพราะ กรมหมื่นสิ้นพระชนม์


ประเภทสุภาษิตมี 3 เรื่อง

1). สวัสดิรักษาคำกลอน แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์พระโอรสในรัชกาลที่ 2 เนื้อหาเป็น ข้อประพฤติปฏิบัติอันเป็นมงคลสำหรับผู้มีฐานะสูงในสังคม

2 ).เพลงยาวถวายโอวาท แต่งถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ( เจ้าฟ้ากลาง ) และเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสใน รัชกาลที่ 2

3 ) .สุภาษิตสอนหญิง เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ข้อควรปฏิบัติสำหรับสตรีให้หมดจดงดงามในความประพฤติ


ประเภทละครมี 1 เรื่องคือ

เรื่องอภัยนุราช  เป็นบทละครขนาดสั้น แต่งถวายพระองค์เจ้าหญิงดวงประภาพระราชธิดาในพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


ประเภทเสภามี 2 เรื่อง

1 ) เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม แต่งในสมัย รัชกาลที่ 2 เล่าเรื่องตอนนางวันทองให้กำเนิดพลายงามที่บ้านขุนช้าง

2 ).เรื่องเสภาพระราชพงศาวดาร แต่งในสมัยรัชกาล ที่ 4 เนื้อเรื่องเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ชาติไทย แบ่งเป็น 2 ตอน

ตอนแรก บรรยายประวัติศาสตร์กรุงศรีนับแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองจนเสร็จการรบกับขอม
ตอนสอง กล่าวตั้งแต่สงครามสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ


ประเภทบทเห่กล่อมมี 4 เรื่อง

1 ) เห่เรื่องจับระบำ
2 ) เห่เรื่องกากี
3 )เห่เรื่องพระอภัยมณี
4 ) เห่เรื่องโคบุตร


  • บทเห่ทั้งหมดเป็นบทเห่สั้นๆขนาด 1 เล่มสมุดไทย แต่งขึ้นเพื่อขับร้องเห่กล่อม เวลาไกวอู่พระเจ้าลูกยาเธอ


จันเจ้าเอ๋ยเคยชิดสนิทเนื้อ
เคยก่อเกื้อกกเกยแต่หนหลัง
ต้องมาร้างแรมลาอนิจจัง
ดีที่ยังมีลูกผูกมัดใจ
คิดถึงเจ้าคราใดให้ติดขัด
มีหนูพัดขัดคลายหายเหงาได้
เห็นหน้าลูกพันผูกคลายทุกข์ใจ
เกิดชาติใหม่อย่าได้ร้างแรมรา

คิดถึงนิ่มจิ้มลิ้มพริ้มพวงแก้ม
จำรอยแย้มแช่มช้อยลอยตรงหน้า
เหมื่อนเดือนเด่นเคลื่อนคล้อยลอยนภา
เจ้าด่วนลาไม่กลับเศร้าจับใจ
คิดถึงเจ้าคราใดใจหายวาบ
ลูกหนูตาบของเราไม่ทันใหญ่
มารีบด่วนหวนลาลับโลกไป
สุดอาลัยใจพี่มีแต่ตรม
คิดถึงม่วงห่วงหาอยู่มิหาย
เจ้าจากไปดวงใจพี่ขื่นขม
ตราบวันนี้ใจพี่ร้าวระบม
สุดขื่นขมก้มหน้ารับผลกรรม
ชีวิตนี้ข้ามีแต่ติฉิน
เป็นอาจิณไม่สิ้นไม่อิ่มหนำ
ลูกหนูนิลตัวน้อยคอยเอ่ยคำ
ลบรอยช้ำได้บ้างยามเหงาใจ


กังวาล  ทองเนตร ประพันธ์ และเรียบเรียง




เพลงเดี่ยว พญาโศก 

เพิ่มเติมกลอนนิราศคลิกที่นี่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น