กังวาล ทองเนตร

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา Pohthaiblogspot.com

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระพุทธศาสนากับหลักหลักธรรมค้ำจุนโลก


คลิกที่ภาพทุกภาพเพื่อดูภาพต้นฉบับ

พุทธศาสนา


  • พุทธศาสนา เกิดในประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในทวีปเอเซียตอนใต้ ในสมัยพุทธกาล เรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ชมพูทวีป มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ ตั้งแต่ ประเทศ อินเดีย เนปาล ภูฏาน ปากีสถาน และบังกลาเทศ ในปัจจุบัน


พุทธประวัติโดยสังเขป


  • พระพุทธเจ้าทรงมีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ ทรงกำเนิดในราชตระกูล ศากยะ แห่งแคว้นสักกะ ทางตอนเหนือของอินเดีย มีเมืงหลวงชื่อ กรุงกบิลพัสดุ์
  • พระพุทธองค์ ทรงประสูติในวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80  ปีณ.สวนลุมพินีวัน ปัจจุบันคือ ตำบลรุมมินเด แขวง เปชวาร์ ประเทศเนปาล ( พ.ศ. 1 จะนับเมื่อ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน )ต่างจากศาสนาอื่นจะนับเมื่อวันประสูตรของศาสดา



  • พระราชบิดาคือ พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นกษัตริย์ครองกรุง กบิลพัสด์ พระมารดาคือ พระนางสิริมหามายา
  • เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง 7 วัน พระมารดาก็สิ้นพระชนม์ 
  • ผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะคือ พระนางปชาบดีโคต ซึ่งเป็นพระมาตุจฉา ( น้า )

เบื้องต้นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ศึกษาศิลปวิทยาการจากสำนักของครู วิศวามิตร


  • เมื่อพระชนม์ได้ 16 พรรษา ก็ได้อภิเษกสมรส กับพระนาง ยโสธรา หรือ พิมพา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้า สุปปพุทธะ และพระนาง อติมา แห่ง เทวทหนคร


  • เมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา พระชายาก็ทรงประสูติพระโอรส เจ้าชายสิทธัตถะได้ขนานนามว่า ราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง หรือ ข่าย อันมีความหมายว่าลูกนั้นเสมือนเครื่องผูกพันพ่อแม่


  • เจ้าชายสิทธัตถะ มิได้ทรงหมกมุ่นอยู่กับ กามตัณหา ที่พระราชบิดา จัดสรรหามาให้แต่อย่างใด แต่ทรงเห็นความทุกข์ของพระองค์เอง และชาวโลก อันเนื่องมาจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย พระองค์จึงเกิดข้อสรุปว่า การหมกมุ่นอยู่กับโลกียสุข มิใช่เห็นทางจะพ้นทุกข์ได้ แต่วิถีทางที่ทดีคือเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ ละความสุขทางโลกแล้วเสด็จออกบวชเพื่อแสวงธรรม ในตอนดึก โดยมิได้บอกกล่าวแก่ผู้ใด



  • โดยทรงม้าต้นชื่อ กัณฐกะ และมีมหาดเล็กชื่อ นายฉันนะ ตามเสด็จเพียงผู้เดียว เสด็จมุ่งตรงไปยังฝั่งแม่น้ำ อโนมา เพื่อทรงเปลี่ยนพระ ภูษิตาภรณ์ แล้วฉลองพระองค์อย่างนักบวช ซึ่งการเสด็จออกบวชครั้งนี้ เรียกว่า การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ หมายถึง การเสด็จออกบวชเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่


พระองค์ใช้เวลาแสงหาโมกขธรรมเป็นเวลา 6 ปี โดยมีขั้นตอนวิธีดับทุกข์ดังนี้

  1. ได้ทรงเข้าศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส และสำนักของ อุทกดาบส ตามลำดับ ทรงเรียนวิธีฝึกฝนอบรมจิตจนได้ฌานสมาบัติ 8 และเน้นหนักโยคะวิธี แต่ก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง
  2. ทรงทดลองปฏิบัติการบำเพ็ญตบะ หรือการทรมานตนเอง แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางตรัสรู้อยู่ดี
  3. ทรงใช้ทางสายกลาง โดยพระองค์กลับมาเสวยพระกระยาหารตามเดิม แล้วบำเพ็ญเพียรทางจิตจากพื้นฐาน และทรงใช้วิธีการวิปัสสนา อีกขั้นตอนหนึ่ง และพิจารณา เบญจขันธ์ จนถึงสภาวะแห่งไตรลักษณ์ในที่สุด ก็ทรงตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ( เดือน 6 ) คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 35 พรรษาพอดี
  • ภายหลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้เสวย วิมุตติสุข หมายถึงสุขอันเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา โดยประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ เป็นเวลา 7 สัปดาห์ และทรงใช้เวลาดังกล่าวพิจารณาในสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ เพื่อที่จะนำธรรมะไปสั่งสอนประชาชนต่อไป
  • พุทธองค์ทรงคิดว่าบุคคลกลุ่มแรกที่ควรจะได้รับคำสั่งสอนและน่าจะสามารถเข้าใจธรรมะได้ดีคือ ปัญจวัคย์ ทั้ง 5คน ได้แก่ โกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ, และอัสสชิ ซึ่งทั้งหมดอาศัยอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดังนั้นเมื่อวันเพ็ญ กลางเดือน 8 พระองค์ ก็ได้ประทานปฐมเทศนา อันได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่โกณทัญญะ
  • โดยสรุปใจความว่า การดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
  • พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการหมกมุ่น ในกามสุข คือ กาม สุขัลลิกานุโยค และพระองค์ทรงปฏเสธการดำเนินชีวิตแบบ อัตตกิลมถานุโยก คือ การทรมานตนเองให้ลำบากด้วยวิธีต่างๆ
  • และทรงแสดงหลักธรรมอริยสัจ 4 เป็นธรรมะสุดท้าย แก่โกณฑัญญะ เมื่อทรงแสดงธรรมจบ โกณฑัญญะ ได้เกิด ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม และมีความเข้าใจสภาพอันเป็นจริงของทุกสิ่งทั้งปวง 
  • ว่าสิ่งใด ล้วนมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และสิ่งทั้งหมดนั้น มีความดับเป็นธรรมดาท้ายสุดโกณฑัญญะได้ทูลขอ อุปสมบท นับว่าเป็นการบวชครั้งแรกในพระพุทธศาสนา และโกณฑัญญะ เป็นพระภิกษุองค์แรกในพระพุทธศาสนา การบวชครั้งแรกที่เกิดขึ้นเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นผู้บวชให้ และภิกษุโกณฑัญญะก็ได้นามใหม่ว่า อัญญาโกณฑัญญะ เป็นปฐมสาวก




การประกาศศาสนา

  • การประกาศและเผยแพร่ศาสนา ดำเนินการต่อมาเป็นเวลา 45 ปี โดยมีกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนาก็คือ พระสารีย์บุตร อัครสาวกเบื่องขวา และพระโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย
  • เมื่อพระชนมายได้ 80 พรรษา พระพุทธองค์ได้ไปประทับจำพรรณาที่บ้านเวฬุคาม กรุงเวสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี และในวันเพ็ญ เดือน 3 ก็ได้ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ กรุงเวสาลี เป็นการแสดงธรรมตรัสเตือนพระภิกษุทั้งหลายว่า อีก 3 เดือนจากนี้ไปพระองค์จะปรินิพาน ดังนั้นภิกษุจะต้องตั้งมั่น อยู่ในความไม่ประมาท และหลังจากนั้นพระพุทธองก็ยังคงสั่งสอนประชาชนเรื่อยมา


  • จนกระทั่งมาประทับอยู่ ณ. อัมพวัน สวนมะม่วงของนายจุนทะ พระองค์ทรงรับ ปัจฉิมบิณฑบาตร ( รับบิณบาตรครั้งสุดท้าย ) โดยนายจุนทะเป็นผู้ ถวายสุกรมัทวะ และพระองค์ได้เกิดอาพาธในเวลาต่อมาจึงเดินทางไปยัง กุสินารา และก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ตรัสยกย่องว่า


บิณฑบาตรที่มีอานิสงส์ อย่างยิ่งมีอยู่ 2 ประการคือ
  1. บิณฑบาตรที่เสวยแล้วตรัสรู้ ได้แก่ การถวายข้าวปายาส ของนางสุชาดา
  2. บิณฑบาตรที่เสวยแล้วดับขันธ์ปรินิพพาน  ได้แก่ การถวายสุกรมัททวะ ของนายจุนทะ
  • พระองค์ทรงแสดงปัจฉิมโอวาท แก่พระสาวก เรียกว่า อัปมาทธรรม ซึ่งเป็นโอวาทครั้งสุดท้าย มีความหมายว่า ขอท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด

  • พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน 6 ที่เมือง กุสินารา หรือเมือง กาเซียนในปัจจุบัน
  • และการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ที่ มกุฎพันธรเจดีย์ ทางทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 เรียกวันดังกล่าวว่า วันอัฏฐมีบูชา





คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา

คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา เรียกว่าพระไตรปิฎก ซึ่งมีทั้งหมด 3 ปิฎก ( 3 เล่มคัมภีร์ ) คือ

  1. พระวินัยปิฎก เป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องระเบียบของพระสงฆ์และภิกษุณี
  2. พระสุตตันตปิฎก เป็นคัมภีร์ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วไป
  3. พระอภิธัมมปิฎก เป็นคัมภีร์ว่าด้วยข้อธรรมะหรือหลักธรรมที่สำคัญ


นิกายในศาสนาพุทธ

  • นิกายเถรวาท หรือ หินยาน เป็นนิกายดั้งเดิมที่ภิกษุในอินเดียในภาคกลางและภาคใต้ ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1 ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพานไปแล้ว 3 เดือน โดยมี พระมหา กัสสปเถระ เป็นประธาน กายสังคายนาครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยใดๆ และให้รักษาสิกขาบททั้งหมดไว้ตามเดิม 
นิกาย เถรวาทนี้บางทีก็เรียกว่า ทักษิณนิกาย หรือ นิกายฝ่ายใต้ ประเทศที่นับถือนิกายเถรวาทนี้ได้แก่ ไทย พม่า เขมร ลาว และศรีลังกา

  • นิกายอาจริยวาท หรือ มหายาน เป็นนิกายที่แตกออกไป โดยยึดหลักธรรมตามแนวคิด และการตีความขึ้นมาใหม่ตามความเชื่อของอาจารย์ของตน หรือเรียกว่านิกายฝ่ายเหนือ นิกายนี้ เผยแพร่ในอินเดียทางเหนือ จีน ญี่ปุ่น เวียตนาม ทิเบต เกาหลี มองโกเลีย เป็นต้น โดยนิกายนี้ได้ดัดแปลง พระธรรมวินัยตามกาลเทศะ



หลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ

อริยสัจ 4 ได้แก่


ความจริงอันประเสริฐ  4 ประการที่มีอยู่แล้วและพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและได้นำมาสั่งสอนประชาชนซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นจากความเป็นทุกข์ อันประกอบไปด้วย

1.  ทุกข์ หมายถึงความไม่สบายกายไม่สบายใจที่ทำให้เกิดปัญหาแก่การดำเนินชีวิตแบ่งได้ดังนี้ 
  • สภาวทุกข์-หมายถึงทุกข์ประจำ คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในพระพุทธศาสนาถือว่า มนุษย์เริ่มแก่ตั้งแรกเกิด คือเริ่มแก่ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ลืมตาดูโลกเพียง หนึ่งวันตราบวันสิ้นลมหายใจ                            
  •      ปกิณณกทุกข์ - หมายถึงทุกข์จร เป็นความทุกข์เล็กๆน้อยๆ มี 8 อย่าง ดังนี้ ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความน้อยใจ ความตรอมใจ ความไม่สบายใจ ความไม่สบายกาย การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก

การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความไม่สมปรารถนา

2.สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือเป็นสาเหตุแห่งปัญหาชีวิต หมายถึงตัณหา หรือความอยาก ซึ่งมี 3 ลักษณะดังนี้
  • กามตัณหา คือ ความอยากในกาม (กามในพุทธศาสนาหมายถึงความใคร่ ) แบ่งออกเป็นอีก 2 อย่างคือ กิเลสกาม และวัตถุกาม
กิเลสกาม เป็นกิเลสที่ละเอียดฝังอยู่ในจิตใจ คือ รู้สึกชอบ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ นับเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับปุถุชน เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี เพียงแต่มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมจิตใจ อย่าให้เกิดความโลภ ริษยา หึงหวง เพราะจำนำไปสู่การทำบาปได้ในที่สุด

วัตถุกาม คือ ความอยากในวัตถุ สิ่งของ เมื่อไม่ได้ก็เสียใจ มนุษย์มักจะแย่งชิงล่วงล้ำสิทธิส่วนตัวของกันและกัน และเบียดเบียนกันในที่สุด
  • ภาวะตัณหา หมายถึง ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น และเมื่อได้ในสิ่งที่อยากนั้น แต่ก็ไม่เพียงพอ ยังอยากให้สิ่งเหล่านั้นอยู่กับตนเองไปนานๆอีกด้วย เช่น เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ สรรเสริญ เป็นต้น
  • วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เช่นไม่พอใจในสภาพที่เป็นปัจจุบันของตนเอง อาทิ ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตา  อยากขจัดไปให้พ้น ซึ่งไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาแต่เป็นการหนีปัญหา แต่เป็นการขว้างปัญหาออกไม่พ้นตัว
3. นิโรธ มีความหมายเช่นเดียวกับนิพพาน อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามมรรคมี องค์ 8 หมายถึงการดับทุกข์ เป็นภาวะที่กิเลสตัณหาดับสนิท หมดปัญหา ไร้สิ้นเชิง

4. มรรค มีองค์ 8 เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ปัญหาหมดไป เปรียบได้กับแบบฝึกหัดในชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีอยู่ 8 ประการดังนี้
  • สัมมาทิฐิ ( ความเห็นชอบ ) ได้แก่ การมีความเห็นที่ถูกต้อง เช่นยอมรับในเรื่องบาป บุญกรรมดี กรรมชั่ว ชาตินี้และชาติหน้า ในระดับที่ละเอียดอ่อนขึ้นไปอีก คือเข้าใจใน หลักอริยสัจ 4
  • สัมมาสังกัปปะ ( ดำริชอบ ) ได่แก่ การคิดเพื่อที่จะให้จิตใจของตนเองเป้นอิสระ จาก กาม ไม่ตกเป็นทาสของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนเกินไป ไม่คิดพยาบาท และเบียดเบียนผู้อื่น
  • สัมมาวาจา  ( วาจาชอบ ) การเว้นจากวจีทุจริต 4 คือเว้นจากการพูดเท็จ ( มุสาวาจา ) เว้นจากการพูดส่อเสียด ( ปิสุณาวาจา )  เว้นจากการพูดคำหยาบ ( ผรุสวาจา ) เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ  ( สัมผัสปลาปวาจา )
  • สัมมากัมมันตะ  ( การกระทำชอบ ) ได้แก่ การงดเว้นจากการทุจริต 3 คือ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม
  • สัมมาอาชีวะ ( การเลี้ยงชีพชอบ ) ได้แก่  การประกอบอาชีพที่ไม่ผิดศีลธรรม การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การไม่อยู่เฉยๆโดยไร้ประโยชน์ ต้องเป็นผู้ที่รู้จักประกอบอาชีพ
  • สัมมาวายามะ ( ความเพียรชอบ ) ได้แก่การเพียรละบาปบำเพ็ญบุญ เพียรระวังไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น เพียรขจัดความชั่วที่ได้เกิดขึ้นแล้ว เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้น เพียรรักษาความคิดดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป
  • สัมมาสติ ( ระลึกชอบ )  ได้แก่  การกำหนดรู้ พฤติกรรมของจิต ระลึกรู้ได้ตลอดเวลาว่าตนเอง กำลังคิดอะไร ทำอะไร ไม่เป็นคนใจลอยเหม่อ ไม่ประมาท มีความรอบคอบ
  • สัมมาสมาธิ ( ตั้งใจชอบ ) ได้แก่ การตั้งมั่นในจิต มีจิตใจที่มั่นคง ควบคุมอารมณ์ได้ จนสามารถบังคับจิตใจ ให้หยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์อย่างเดียวได้


ปิดวิทยุที่ข้างบล็อกแล้วเปิดฟังบทสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร






ไตรลักษณ์

หลักไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะ 3 อย่างโดยธรรมชาติของสิ่งทั้งปวง อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา ( อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา )

  1. อนิจจตาคือ ความไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ไม่มีสิ่งใดที่เป็นสิ่งยั่งยืนถาวร ภาวะที่มีการเกิดขึ้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ และเสื่อมสลายไปในที่สุด เช่นผิวหนังที่เต่งตึง ก็ เหี่ยวย่น ฟันหลุด พละกำลัง ลาภยศ ชื่อเสียง  หรือ บ้านเรือน ภูเขา หินผา แม่น้ำ ย่อมเสื่อมสภาพ และสลายไปในที่สุด เป็นต้น
  2. ทุกขตา คือ การที่สิ่งต่างๆ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ พระพุทธศาสนาถือว่า สิ่งใด ที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ซึ่งความหมายในไตรลักษณ์ ทุกข์จะกว้างกว่า อริยสัจ 4 กล่าวคือ ทุกข์ในอริยสัจ 4 หมายถึง ทกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่ทุกข์ในไตรลักษณ์ หมายความรวมถึงทกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น และไม่สามารถ ดำรงสภาพของตัวเองต่อไปได้ หรือ อยู่ในสภาวะเดิมได้ ต้องเสื่อสลายเปลี่ยนแปรไป คือทุกข์ ตามหลักไตรลักษณ์ นี้
  3. อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน พุทธศาสนาสอนวา ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน จึงสอนไม่ให้ยึดมั่นในความเป็นตัวตน  ร่างกายไม่ใช่ของเรา เพราะเราบังคับบัญชามันไม่ให้ แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้ เราไม่สามารถบังคับไม่ให้ร่างกาย หิวได้  ร่างกายเป็นระบบการรวมตัวกันทำงานของอวัยวะ และมีจิตครอบครองอยู่เท่านั้น ไม่มีใครในโลกนี้เป็นเจ้าของร่างกายได้อย่างแท้จริงหรือถาวรได้ เมื่อถึงเวลาทุกคนย่อมต้องจากร่างกายนี้ไปหมดทั้งสิ้น เป็นต้น

ไตรสิกขา

คือหลักศึกษาที่อาศัย ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ไปสู่ผลสำเร็จ ได้แก่

  1. ศีล คือข้อปฏิบัติ ฝึกตนด้านความประพฤติทางกายและวาจา
  2. สมาธิ คือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกจิต เพื่อให้เกิดสมาธิ
  3. ปัญญา  คือ ข้อปฏิบัติฝึกปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง

พรหมวิหาร 4 


พรหมวิหาร วิหาร แปลว่า ที่อยู่ พรหม แปลว่า ประเสริฐ คำว่า พรหมวิหาร หมายความว่า เอาใจจับอยู่ในอารมณ์แห่งความประเสริฐ หรือเอาใจไปขังไว้ในความดีที่สุด ซึ่งมีคุณธรรม 4 ประการ คือ

1.เมตตา  คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

2.กรุณา  คือ  ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3. มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
4. อุเบกขา คือ การรู้จักวางเฉย วางใจเป็นกลาง พิจารณาเห็นว่าใครทำดีย่อมได้ดีใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว เป็นไปตามกฎแห่งกรรมหรือการกระทำนั้น
  





โลกบาลธรรม

โลกบาลธรรมได้แก่ ธรรมที่คุ้มครองโลก 2 ประการ ดังนี้


  1.  หิริ หมายถึง ความละอายใจต่อการทำบาปหรือทำชั่ว
  2. โอตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อบาปหรือความชั่ว และเกรงกลัวต่อผลของการกระทำชั่วนั้น
กุศลบท 10

กุสลบท 10 หมายถึง ทางแห่งความดี 10 ประการ เป็นธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี แบ่งออกเป็น 3 ทางดังนี้

1.การกระทำชอบทางกายมี 3 ประการได้แก่
  • เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
  • เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้
  • เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
2. การกระทำที่ชอบทางวาจา มี 4 ประการดังนี้
  • เว้นจากการพูดเท็จ
  • เว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงคนให้แตกแยกสามัคคี
  • เว้นจากการพูดคำหยาบ
  • เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
3.การกระทำที่ชอบทางใจ มี 3 ประการดังนี้
  • ไม่คิดอยากได้ของผู้อื่นโดยวิธีทุจริต
  • ไม่พยาบาทจองเวรและคิดร้ายผู้อื่น
  • ไม่คิดเรื่องทุจริต ให้คิดแต่เรื่องถูกทำนองคลองธรรม



บุญกิริยาวัตถุ 10

บุญกิริยาวัตถุ 10หมายถึง หลักธรรมแห่งการทำบุญ ทานแห่งการทำความดี มี 10 ประการดังนี้

  1. ทานมัย คือบุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
  2. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
  3. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
  4. อปจายนมัย คือบุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
  5. เวยยาวัจจนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือ ขวนขวายในกิจการงาน
  6. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
  7. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
  8. ธัมมัสสวนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
  9. ธัมมัสเทสนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
  10. ทิฎฐุขุกัมม์  คือ บุญสำเร็จด้วยการกระทำความคิดเห็นของตนให้ตรง

ฆารวาสธรรม 4

ฆารวาสธรรม 4 หมายถึงธรรมของผู้ครองเรือน พึงปฏิบัติมี 4 ประการดังนี้
  1. สัจจะ  คือความซื่อสัตย์ต่อกัน
  2. ทมะ   คือการรู้จักข่มใจตนเอง
  3. ขันติ คือ ความอดทนและให้อภัย
  4. จาคะ  คือ การเสียสละแบ่งปันของของตนให้แก่ผู้ที่ควรแบ่งปัน

อธิษฐานธรรม 4

อธิษฐานธรรม 4 หมายถึง ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มี 4 ประการดังนี้
  1. สัจจะ คือความซื่อสัตย์
  2. ปัญญา คือ ความรอบรู้
  3. จาคะ คือความเสียสละแบ่งปัน
  4. อุปสมะ  คือ ความสงบในจิตใจ
อิทธิบาท 4

อิทธิบาท 4 หมายถึง ธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน มี 4 ประการ ดังนี้
  1. ฉันทะ  คือ ความพอใจในงานที่ทำ
  2. วิริยะ  คือ ความเพียร ความมีมานะ ไม่ย่อท้อต่อการทำงาน
  3. จิตตะ  คือ ความเอาใจใส่ ตั้งใจทำงานอย่างสม่ำเสมอ
  4. วิมังสา คือ การพิจารณาไตร่ตรอง หาเหตุผล แก้ไขข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
>>> วันสำคัญในพระพุทธศาสนา >>>

กังวาล ทองเนตร ถวายเป็นพุทธบูชา







ปิดวิทยุที่ด้านข้างบล็อก ก่อนเปิดฟังสวดมนต์ต้นฉบับจากอินเดีย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น