กังวาล ทองเนตร

ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่คลังปัญญา Pohthaiblogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

ระบบต่อมในร่างกายมนุษย์



ระบบต่อมในร่างกายมนุษย์


ร่างกายมนุษย์เรามีต่อมอยู่ 2 ประเภทคือ


  • ต่อมมีท่อ ( Exocrine gland ) เป็นต่อที่สร้างสารเคมีออกมาแล้วส่งไปยังตำแหน่งออกฤทธิ์โดยอาศัยท่อลำเลียงของต่อมโดยเฉพาะ เช่น ต่อมน้ำลาย ต่อมสร้างเอนไซม์ย่อยอาหาร ต่อมน้ำตา ต่อมน้ำนม ต่อมสร้างเมือก ต่อมเหงื่อ เป็นต้น

  • ต่อมไร้ท่อ ( Endocrine gland ) เป็นต่อมที่สร้างสารเคมีขึ้นมาแล้วส่งไปออกฤทธิ์ที่อวัยวะเป้าหมาย โดยอาศัยระบบหมุนเวียนเลือด เนื่องจากไม่มีท่อลำเลียงของต่อมโดยเฉพาะ สารเคมีที่ไปจากต่อมไร้ท่อนี้เรียกว่า ฮอร์โมน ซึ่งอาจเป็นสารประเภท กรดอะมิโน หรือสเตรอยด์
  • ต่อมไร้ท่อจะกระจายอยู่ตามตำแหน่งต่างๆของร่างกาย ฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากต่อมไร้ท่อนี้มีหลายชนิดแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละชนิดจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อให้การเจริญเติบโต การกระตุ้นหรือยับยั้งการทำงาน สามารถออกฤทธิ์ได้โดยใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย


ต่อมไทรอยด์และพาราไทรอยด์


นอกจากนี้ต่อมไร้ท่อที่สำคัญ มี 7 ต่อมได้แก่

1.  ต่อมใต้สมอง ( Pituitary gland )
  • เป็นต่อมไร้ท่ออยู่ส่วนกลางของสมอง ( Hypophysis) มีหน้าที่ขับสารที่มีสีขาวขุ่นคล้ายกับเสมหะ จึงเรียกต่อมนี้ว่า ต่อม  Pituitary gland 

นอกจากนี้ต่อมใต้สมองยังแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
  • ต่อมใต้สมองส่วนหน้า ( anterior lobe )
  • ต่อมใต้สมองส่วนกลาง ( intermadiate lobe )
  • ต่อมใต้สมองส่วนหลัง ( posterior lobe )




2.ต่อมไทรอยด์ (Thyroid  )

  • ต่อมนี้มีลักษณะเป็นพู 2 พูอยู่บริเวณสองข้างของคอหอยโดยมีเยื่อบางๆเชื่อมต่อกันระหว่าง 2 ต่อม ต่อมไทรอยด์นับว่าเป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย และมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมากที่สุด มีน้ำหนักของต่อมประมาณ 15-20 กรัม ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่สำคัญคือ
ฮอร์โมนไทรอกซิน ( Thyroxin hormone ) 
  • ฮอรโมนนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญสารอาหาร กระตุ้นการเปลี่ยน ไกลโคเจน เพื่อให้เป็น กลูโคส และเพิ่มการนำ กลูโคส เข้าสู่เซลล์บุทางเดินอาหาร จึงเป็นตัวเพิ่มระดับน้ำตาล กลูโคสในเลือด

ถ้าเกิดความผิดปกติกับฮอร์โมนตัวนี้จะส่งผลต่อร่างกายมนุษย์หลายอย่างเช่น 

  • คอหอยพอกธรรมดา เกิดขึ้นจากต่อมขยายใหญ่เนื่องจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าสร้าง TSH มากระตุ้นต่อมไทรอยด์มากเกินไป จึงทำให้ต่อมนี้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมน ไทรอกซิน เพื่อไปยับยั้ง TSH ได้จากต่อมใต้สมอง จึงเกิด คอหอยพอกธรรมดา
  • คอหอยพอกเป็นพิษ เกิดขึ้นจากต่อมไทรอยด์เองสร้างฮอร์โมนมากเกินไปเพราะเกิดภาวะเนื้องอกของต่อม
  • คอหอยพอกและตาโปน เกิดจากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากผิดปกติ เพราะได้รับการกระตุ้นจาก TSH จากต่อมใต้สมองมากเกินไป หรือเรียกว่าภาวะเนื้องอกของต่อมก็ได้ คนป่วยจะมีอาการเผาผลาญสารอาหารมากเกินไป อ่อนเพลีย  น้ำหนักตัวลดลง ทั้งที่กินจุขึ้น หายใจ แรง เร็ว ตอบสนองสิ่งเร้าไว และอาจเกิดอาการตาโปน เนื่องจากเกิดการเพิ่มปริมาณของน้ำและเนื้อเยื่อที่อยู่หลังลูกตา โรคนี้จะพบใน สตรีมากมากกว่า ชาย
  • คริตินิซึม( cretinism ) เกิดจากต่อมไทรอยด์ฝ่อในวัยเด็ก หรือพิการตั้งแต่เกิด การเจริญเติบโตของกระดูกลดลง ร่างกายเตี้ย แคระแกรน การเจริญทางจิตใจช้า มีภาวะปัญญาอ่อน พุงยื่น ผิวหนังแห้ง ผมบาง
  • มิกซีดีมา ( Myxedema ) เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ เนื่องจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมาน้อยผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการ เติบโตช้าทั้งร่างกายและจิตใจ มีอาการชัก ผิวแห้งหยาบ เหลือง ไตและหัวใจทำงานเฉือยชา ซึม ความจำเสื่อม ไขมันมาก ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย โรคนี้ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ฮอร์โมนแคลซิโทนิน ( Calsitonin ) 
  •  เป็นฮอร์โมนอีกชนิดที่ถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ลดระดับแคลเซียมในเลือดที่สูงเกินปกติ ให้อยู่ในระดับปกติ และดึงแคลเซียมส่วนเกินไปไว้ในกระดูก ฮอร์โมนนี้จึงเป็นตัวทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด และฮอร์โมนนี้จะทำงานร่วมกับต่อม พาราไทรอยด์ และวิตามิน ดี




3. ต่อมพาราไทรอยด์ ( Parathyroid gland )
  • เป็นต่อมที่มีน้ำหนักน้อยมาก ติดอยู่กับเนื้อของต่อมไทรอยด์ ทางด้านหลัง มีข้างละ 2 ต่อมมีลักษณะเหมือนรูปไข่ขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลปนเหลือง มีน้ำหนักรวม 4 ต่อม ประมาณ 0.03-0.05 กรัมเท่านั้น

ต่อมพาราไทรอยด์

ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมพาราไทรอยด์ คือ พาราทอร์โมน ( Parathormone )
  •  ฮอร์โมนนี้ทำหน้าที่รักษาสมดุลย์ของแคลเซียม และฟอสฟอรัส ในร่างกายให้คงที่ โดยจะทำงานร่วมกับ ฮอร์โมน แคลซิโทนิน ของต่อมไทรอยด์ที่กล่าวมาแล้ว เพื่อรักษาความสมดุลของแคลเซียมในกระแสเลือด ซึ่งกระทบต่อ การทำงานของกล้ามเนื้อประสาทและการเต้นของหัวใจ พาราทอร์โมนจึงมีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก

4. ต่อมหมวกไต ( adrenal gland ) 
  • อยู่บริเวณขั้วไตทั้งสองข้าง ต่อมขวาจะเป็นรูปสามเหลี่ยม ที่แสดงไว้ที่ภาพด้านล่าง จะเป็นสามเหลี่ยม ทำกราฟฟิคสีเขียวไว้เพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ส่วนต่อมซ้ายจะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ตามรูป


ต่อมนี้ประกอบด้วยเนื้อเยื่ออยู่ 2 ชนิด คือ

   4.1 อะดรีนัลคอร์เทกซ์ ( Adrenal cortex)
  • สามารถสร้างฮอร์โมนได้มากกว่า 50 ชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

  4.1.1 ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ ( glucocorticoid )  
  • ทำหน้าที่ควบคุม เมเทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ไขมัน รวมถึงสมดุลของเกลือแร่ด้วย  ถ้าร่งกายมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป จะทำให้หน้ากลมคล้ายพระจันทร์ บริเวณต้นคอ มีหนอกยื่นออกมา

 4.1.2 ฮอร์โมนมิเนราโลคอติคอยด์ ( mineralocorticoid )  
  • ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ที่สำคัญคือ แอลโคสเตอโรน ซึ่งควบคุมการทำงานของไต ในการดูดน้ำและโซเดียม เข้าสูเลือด และ ยังควบคุมความเข้มข้นของฟอสเฟตในร่างกายด้วย

4.1.3 ฮอร์โมนเพศ ( adrenalsex hormone ) 
  • ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น แอนโดรเจน เอสโตรเจน แต่มีปริมาณเล็กน้อยเมื่อเทียบปริมาณฮอร์โมนเพศ จากลูกอัณฑะในชาย และไข่ในสตรี

 4.2 อะดรีนัลเมดุลลา ( Adrenal medulla )
  • ประกอบด้วยฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิดคือ
4.2.1 อะดรีนาลินฮอร์โมน ( Adrenalin hormone )
  •  หรือฮอร์โมนเอปิเนฟริน ( epinephrine ) เมื่อร่างกายหลั่งอะดรีนาลินออกมา มีผลทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มมากขึ้นกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง ทำให้เส้นเลือด อาร์เตอรี ขนาดเล็กที่อวัยวะต่างๆขยายตัว ส่วนอาร์เตอรีที่ผิวหนังและช่องท้องกลับหดตัวลง
4.2.2 นอร์อะดรีนาลินฮอร์โมน ( Noradrenalin hormone ) 
  • หรือฮอร์โมนนอร์เอปิเนฟริน ฮอร์โมนนี้จะแสดงผลต่อร่างกายคล้ายกับ อะดรีนาลิน แต่ อะดรีนาลีนมีผลดีกว่า ส่วนฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งออกมาจากปลายเส้นประสาทซิมพาเทติก  ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น หลอดเลือด อาร์เตอรี ที่อวัยวะต่างๆบีบตัว



5.ตับอ่อน 

  • ภายในเนื่อเยื่อตับอ่อนจะมี ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ เป็นต่อมเล็กๆประมาณ 2 ล้าน 5 แสนต่อมหรือ ร้อยละ 1 ของเนื้อเยื่อตับอ่อนทั้งหมด ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน ที่สำคัญ 2 ชนิดคือ

         5.1อินซูลิน ( Insulin ) สร้างมาจากเบตตาเซลล์ที่ส่วนกลางของ ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ ทำหน้าที่สำคัญคือ รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ เมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง อินซูลินจะหลั่งออกมาเพื่อกระตุ้นเซลล์ตับและกล้ามเนื้อ นำกลูโคสเข้าไปในเซลล์ให้มากขึ้น และเปลี่ยนกลูโคส ให้เป็น ไกลโคเจน เพื่อสะสมไว้ อินซูลินยังช่วยกระตุ้นเซลล์ทั่วร่างกายใหมีการใช้ก,ูโคสให้มากขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงสู่รัดับปกติ ถ้ากลุ่มเซลล์กลุ่มนี้ถูกทำลายหรือ บกพร่อง จะส่งผลให้มีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมาก ทำให้เป็นโรคเบาหวานนั่นเอง
          5.2 กลูคากอน ( glucagon ) เป็นฮอร์โมนที่สร้าง แอลฟาเซลล์ซึ่งเป็นเซลล์อีกประเภทหนึ่ง ของ ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ กลูตากอนจะไปกระตุ้นการสลายตัวของ ไกลโคเจนจากตับและกล้ามเนื้อ ให้น้ำตาลกลูโคสปล่อยออกมาในเลือด ทำให้เลือดมีกลูโคสเพิ่มขึ้น


ตับอ่อน 



6. รังไข่ ( Ovaries )

  • เป็นต่อมอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงซึ่งจะสร้างฮอร์โมนที่สำคัญคือ เอสโตรเจน (Estrogens ) และโปรเจสเตอโรน ( progesterrone )
  • เอสโตรเจน ทำหน้าที่ลักษณะของเพศหญิง ทำให้มีเสียงแหลม สะโพกผาย การขยายใหญ่ของอวัยวะเพศและเต้านม การมีขนขึ้นตามอวัยวัเพศและมีส่วนในการควบคุมเปลี่ยนแปลงที่รังไข่ และ เยื่อบุมดลูกด้วย
  • โปรเจสเตอโรน เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากส่วนของอวัยวะเพศโดยตรง คือ คอร์ปัส ลูเตียม และบางส่วนสร้างมาจาก รกเมื่อมีครรภ์ นอกจากนี้สามารถสร้างมาจากอะดรีนัลคอร์เทกซ์ได้ด้วย ฮอร์โมนชนิดนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดก่อนการตั้งครรภ์ และตลอดเวลาของการตั้งครรภ์มีบทบาทโดยตรงต่อเยื่อบุมดลูก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่รังไข่และมดลูก  การทำงานของฮอร์โมนตัวนี้ อยู่ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมน FSH  และ LH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า

รังไข่( Ovary)




7.อัณฑะ  ( Testis ) 
  • เป็นต่อมอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชาย อัณฑะจะสร้างฮอร์โมนสำคัญคือ
  • เทสโตสเตอโรน ( Testosterone ) ซึ่งจะทำหน้าที่เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม โดยกลุ่มเซลล์ อินเตอร์สติเชียล จะได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า คือ LH  และ ICSH  นอกจากสร้างเทสโตสโตโรนแล้ว ยังพบว่าเซลล์สติชียล ยังสร้างฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจนได้อีกด้วย


  • ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรน ทำหน้าที่ควบคุมลักษณะของเพศชาย เช่น เสียงแตก นมขึ้นพาน ลูกกระเดือกแหลม มีหนวดขึ้นบริเวณริมฝีปาก ขนขึ้นที่รักแร้ ขาแข้ง อวัยวะเพศ แขน เติบโตและมีความแข็งแรงมากกว่าเพศหญิง
  • ถ้าตัดลูกอัณฑะ จะทำให้เป็นหมันถาวร และลักษณะทางเพศชายต่างๆไม่ไม่เจริญเติบโตตามปกติ
  • ถ้าระดับฮอร์โมนสูง หรือสร้างฮอร์โมนก่อนวัยหนุ่มมาก เนื่องจากมีเนื่องอกที่อัณฑะจะทำให้การเติบโตทางเพศก่อนเวลาอันควร ทั้งคุณลักษณะทางเพศชายและอวัยวะสืบพันธุ์











กังวาล  ทองเนตร เรียบเรียง

 อ้างอิงจาก >> >> [ 1 ] [ 2 ] [ 3 ] [ 4 ]




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น